เจ้าเมืองตรังเป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว สูง ๒-๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๑๐ ซม. มีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน กาบใบยาว ๕๐-๖๐ ซม. ก้านใบยาวได้ถึง ๒.๗ ม. ตามขอบก้านใบมีหนามยาวประมาณ ๑.๕ ซม. แบนและโค้งลง แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน รูปกลม เป็นแฉกลึกตามแนวรัศมีถึงโคนหรือเกือบถึงโคน มีได้ถึง ๒๑ แฉก แฉกปลายสุดใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ แต่ละแฉกพับจีบ ยาว ๕๐-๙๐ ซม. ปลายแฉกตัดและหยักไม่เท่ากัน เส้นใบเรียงขนานจากโคนแฉกสู่ปลายแฉก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายลำต้นระหว่างกาบใบ ยาวได้ถึง ๓.๕ ม. มีช่อแขนงคล้ายช่อเชิงลด ๕-๗ ช่อ โค้งลง ยาว ๕๐-๗๐ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑.๒ ม. ใบประดับใบแรกใกล้โคนช่อดอกยาว ๓๕-๔๐ ซม. ใบประดับที่อยู่ระหว่างใบประดับใบแรกและใบประดับช่อแขนงแรกเป็นหลอดยาว ๓๓-๓๖ ซม. มีเกล็ดบางเล็กกระจายทั่วไป ขอบใบประดับมักเป็นเส้นใยสานกันเป็นร่างแห ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรเพศผู้เจริญเต็มที่ก่อนเกสรเพศเมีย ใบประดับย่อยยาวประมาณ ๒.๕ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. มีขนดอกตูมโป่งข้างเดียวหรือรูปคล้ายกระบอง กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๑.๓-๑.๔ ซม. กลีบเลี้ยงยาว ๖-๗ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ปลายแฉกตัดและหยักไม่เท่ากัน กลีบดอก ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๑.๒ ซม. โค้งพับลง มีขนคล้ายไหม ปลายกลีบด้านในสีขาวหรือสีเขียว เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาว ๘-๙ มม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันและเชื่อมติดกับโคนกลีบดอก อับเรณูยาว ๓-๓.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๗-๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๒-๒ ซม. ผนังผลชั้นในบางและแข็ง สุกสีส้ม มี ๑ เมล็ด
เจ้าเมืองตรังมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น และพื้นที่ที่มีดินสลายมาจากหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลได้ถึง ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบทางตะวันออกของอินเดีย รวมหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ เมียนมาถึงคาบสมุทรมาเลเซีย.