กะทั้งใบใหญ่เป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มรูปเจดีย์ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีตุ่มขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๘-๑๕ ซม. ยาว ๑๔-๒๖ ซม. ปลายมนหรือมีติ่งสั้น ๆ โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาแข็ง ด้านบนสีเขียวเข้มมีขนประปรายตามเส้นกลางใบ ด้านล่างสีจางกว่า มีขนนุ่มน้ำตาลอมเหลืองทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นขั้นบันไดถี่ เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๖-๓.๔ ซม. มีขนนุ่มประปราย
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น ๆ ออกเหนือรอยแผลใบและตามง่ามใบ แกนช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อน เมื่อบาน กว้าง ๗-๙ มม. ก้านดอกเรียว ยาว ๐.๘-๑.๗ ซม. กลีบรวมโคนติดกันคล้ายรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมากเป็นกระจุก อับเรณูเป็นช่องมีฝาเปิดดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ออกเป็นกลุ่มบนช่อสั้น ๆ ๓-๘ ผล รูปไข่หรือรูปรี ปลายมน ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. ติดอยู่บนฐานรูปถ้วยซึ่งเจริญมาจากกลีบรวม ผลสีเขียว ผลสุกสีดำ มีเมล็ดแข็ง ๑ เมล็ด
กะทังใบใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบที่ค่อนข้างโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่ารุ่นที่ชุ่มชื้น บนพื้นที่ราบและตามภูเขา ในต่างประเทศพบที่พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ใบเมื่อขยี้มีกลิ่นฉุนคล้ายการบูร เนื้อไม้มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย สีน้ำตาลแกมเหลือง เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ สีจะเข้มขึ้น เนื้อค่อนข้างหยาบ เป็นมัน ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน และใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือเกษตรกรรมต่าง ๆ เนื้อไม้มีลักษณะคล้ายไม้ทำมัง (Litsea petiolata Hook.f.) ใช้ร่วมกันได้ เมล็ดให้น้ำมันที่ใช้ทำน้ำมันใส่ผมบำรุงรากผม (กรมป่าไม้, ๒๕๒๖).