ไคร้นา

Homonoia riparia Lour.

ชื่ออื่น ๆ
กะแลแร (มลายู-ยะลา); แกลแร (มลายู-นราธิวาส); ไคร้ (กลาง, เหนือ); ไคร้หิน (ชุมพร); แร่ (ตรัง); สี่ที่
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เป็นพืชทนนํ้า ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ด้านล่างมีปุ่มเล็ก ๆ และมีเกล็ดขนสีเงินหรือสีขาว มีต่อมที่บริเวณจักฟันเลื่อย ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ สีเหลืองอมเขียวหม่น มีแต้มสีแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม สีน้ำตาล บางครั้งพบสีแดงอมเหลืองหรือสีออกดำ เมล็ดมีเยื่อหุ้ม สีแดง

ไคร้นํ้าเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๒(-๗) ม. เป็นพืชทนน้ำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูป ไข่กลับ กว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๒๑ ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งหนามสั้น โคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีปุ่มเล็ก ๆ และมีเกล็ดขนสีเงินหรือสีขาว หรือบางทีมีนวลมีต่อมที่บริเวณจักฟันเลื่อย เส้นใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๑๖ เส้น ก้านใบยาว ๐.๔-๑.๓ ซม. หูใบกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๕-๗ มม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง ๗(-๑๐) ซม. สีเหลืองอมเขียวหม่นมีแต้มสีแดง มักพบเป็นช่อดอกแยกเพศ บางครั้งพบดอกเพศผู้อยู่ที่โคนช่อและดอกเพศเมียอยู่ที่ปลายช่อ ดอกจะ ออกเดี่ยวที่แต่ละข้อสมมาตรตามรัศมี ไม่มีก้านดอก กลีบดอก และจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔.๕-๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑-๓.๕ มม. ยาว ๓-๔.๕ มม. ด้านนอกสีแดงเข้มด้านในสีชมพูอมแดง ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน สีขาว ยาว ๓-๖ มม. แตกกิ่งที่ปลายก้านเป็น ๒ แฉก เรียงสลับกันบนก้าน อับเรณูจำนวนมาก สีขาวถึงสีเหลือง กว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๒ มม. แกน


อับเรณูสีแดงเข้ม ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยง ๔(-๖) กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันรูปไข่ กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. สีเขียวหม่น มีแต้มสีแดง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวได้ถึง ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละ ช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมียหรืออาจพบยาวประมาณ ๐.๓ มม. สีครีม ยอดเกสรเพศเมีย ยาว ๑.๕-๔ มม. สีน้ำตาลอมแดง

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๓-๔.๕ มม. สีน้ำตาล บางครั้งพบสีแดงอมเหลืองหรือสีออกดำ ผนังผลบางแต่แข็ง หนาไม่ถึง ๑ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง เมื่อผลแก่แตกเหลือแกนกลางผล เมล็ดกว้างและยาวประมาณ ๒ มม. หนา ๑-๑.๕ มม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดแข็งและอยู่ทน

 ไคร้น้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทั่วทุกภาคมักขึ้นเป็นกลุ่มตามชายนํ้า ขึ้นได้บนหินที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน ศรีลังกา จีน ไต้หวันภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใบใช้แก้โรคผิวหนัง ในกัมพูชาใช้ใบและยอดอ่อนทำเป็นน้ำมันใส่ผม และใช้เนื้อไม้เป็นยาชงแก้โรคมาลาเรีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้นา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Homonoia riparia Lour.
ชื่อสกุล
Homonoia
คำระบุชนิด
riparia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
กะแลแร (มลายู-ยะลา); แกลแร (มลายู-นราธิวาส); ไคร้ (กลาง, เหนือ); ไคร้หิน (ชุมพร); แร่ (ตรัง); สี่ที่
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต