เจอราเนียมป่า

Geranium nepalense Sweet

ชื่ออื่น ๆ
เจราเนียมป่า
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรงหรือทอดนอนมีไหลทอดเลื้อย แต่ละไหลมีหลายหน่อ รากมักเป็นกระจุกฝอย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม คล้ายสลับตั้งฉากแผ่นใบรูปค่อนข้างกลม ครึ่งวงกลม หรือคล้ายรูปหัวใจกลับ ขอบเว้าลึก ๓-๕ แฉก ช่อดอกแบบช่อกระจุกน้อย มี ๒ ดอก พบบ้างที่มีดอกเดียว ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว สีชมพูอ่อน หรือสีชมพู ผลแบบผลแยกแล้วแตก รูปทรงกระบอกแคบ มีกลีบเลี้ยงและยอดเกสรเพศเมียติดทน เสี้ยวผลเกลี้ยง เมล็ดเล็ก

เจอราเนียมป่าเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรงหรือทอดนอน สูงได้ถึง ๒๐ ซม. มีไหลทอดเลื้อย


ยาวได้ถึง ๘๐ ซม. แต่ละไหลมีหลายหน่อ หน่อที่อยู่ใกล้ต้นแม่มีขนาดใหญ่กว่าหน่อที่อยู่ไกลออกไป แต่ละหน่อเมื่อสัมผัสพื้นดินเกิดรากแล้วเจริญเป็นต้นใหม่ หน่อและไหลฉ่ำน้ำ บอบบาง ทุกส่วนมักมีขนยาวสีขาวหนาแน่นรากมักเป็นกระจุกฝอย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม คล้ายสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปค่อนข้างกลม ครึ่งวงกลม หรือคล้ายรูปหัวใจกลับกว้างและยาว ๒.๕-๕ ซม. ขอบเว้าลึก ๓-๕ แฉก แต่ละแฉกปลายแหลม ขอบแฉกจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ขนาดไม่เท่ากัน โคนใบเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจ เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เส้นแขนงใบของเส้นโคนใบเส้นที่อยู่กลาง ๆ มักอยู่ค่อนไปทางปลายเส้นใบและไปจดที่ปลายของจักฟันเลื่อยหรือรอยต่อระหว่างจักฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นห่าง ๆ ก้านใบยาว ๒-๗ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๒-๑.๕ มม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น หูใบรูปใบหอกหรือรูปลิ่มแคบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกน้อย มี ๒ ดอก พบบ้างที่มีดอกเดียว ออกตามซอกใบ ก้านช่อส่วนใหญ่ยาวกว่าใบ รูปทรงกระบอกแคบ เรียว ยาว ๑.๒-๘.๓ ซม. ใบประดับรูปลิ่มแคบ ขนาดเล็ก ใบประดับย่อยรูปใบหอกแกมรูปแถบ ก้านดอกรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนยาวหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวหรือสีเขียวอ่อน รูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายเป็นติ่งหนาม ยาว ๔-๖ มม. มีเส้นกลีบอยู่ตรงกลาง ๑ เส้น อีก ๒ เส้นคล้ายเส้นขอบกลีบ ปลายจดกับเส้นที่อยู่ตรงกลางใกล้ปลายติ่ง ด้านนอกมีขนยาว ด้านในเกลี้ยงกลีบดอก ๕ กลีบ เรียงสลับกับกลีบเลี้ยง สีขาว สีชมพูอ่อน หรือสีชมพู รูปไข่กลับ รูปไข่กลับกว้าง หรือคล้ายรูปหัวใจกลับ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๖.๕ มม. ปลายมน และมักเว้าตื้น ๒-๓ เว้า ขอบบางใส แผ่ออก เส้นกลีบสีชมพูอมม่วง ๔-๕ เส้น เห็นชัด เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร อยู่ตรงซอกระหว่างโคนรังไข่กับโคนกลีบดอก บางครั้งอาจลดรูปเหลือเพียงก้านชูอับเรณู ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยก ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสีขาวหนาแน่น อับเรณูสีน้ำเงิน กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ๐.๓-๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกแคบ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. สีเขียว มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ดต่อมน้ำต้อย ๕ ต่อม รูปครึ่งวงกลม ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๕ แฉก รูปคล้ายช้อนหรือกระบอง สีชมพูอมแดง

 ผลแบบผลแยกแล้วแตก รูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๑.๔-๑.๘ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น มีกลีบเลี้ยงและยอดเกสรเพศเมียติดทน เสี้ยวผลเกลี้ยง เมล็ดเล็ก ขนาด ๒-๒.๕ มม.

 เจอราเนียมป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามชายป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๒,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อัฟกานิสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน ปากีสถาน ศรีลังกา จีน เมียนมา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เจอราเนียมป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Geranium nepalense Sweet
ชื่อสกุล
Geranium
คำระบุชนิด
nepalense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Sweet, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1783-1835)
ชื่ออื่น ๆ
เจราเนียมป่า
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ