ซ้อ

Gmelina arborea Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กำม่าทุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี, กำแพงเพชร); แก้มอ้น (นครราชสีมา); ช้องแมว (ชุมพร); เซาะแมว (มลายู-นราธ
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปหัวใจ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองแต้มน้ำตาล กลีบดอกรูปปากเปิด ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือรูปทรงรีแกมรูปไข่กลับสุกสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงรี

ซ้อเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๕ ม. เปลือกสีขาวอมเทาหรือสีเทาอมน้ำตาล กิ่งกลมหรือเป็นสันสี่เหลี่ยมขอบมน มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลประปราย มีช่องอากาศกระจายทั่วไป มีรอยแผลใบชัดเจน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปหัวใจ กว้าง ๘-๑๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปหัวใจหรือรูปลิ่มกว้าง ขอบเรียบแผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนสั้นนุ่มประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ที่โคนใบมีต่อม ๒ ต่อม เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว ๓.๕-๘ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเทาประปราย


 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๒๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑๕-๒๕ ซม. ก้านและแกนช่อดอกมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านดอกสั้นมาก ใบประดับรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ร่วงง่ายดอกสีเหลืองแต้มน้ำตาล กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๓-๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มและมีต่อมสีดำประปราย ด้านในเกลี้ยง ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๐.๕ มม. กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๓-๔ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มและมีต่อม ด้านในมีขนสั้นนุ่มใกล้ปากหลอด ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกมน ขอบบิดเป็นคลื่น แยกเป็นซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกกลางมีขนาดใหญ่สุด เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดในหลอดกลีบดอกและโผล่พ้นหลอดกลีบดอกเล็กน้อย แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กลับ เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๒.๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือรูปทรงรีแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีเนื้อฉ่ำน้ำ สุกสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงรี มักมีเพียง ๑ เมล็ด

 ซ้อเป็นไม้เบิกนำ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและที่โล่งในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องแกะสลัก เครื่องเรือน เครื่องมือทางการเกษตร ด้านสมุนไพรใช้ใบสดคั้นน้ำใส่แผล รากใช้เข้ายาบำรุงธาตุ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซ้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gmelina arborea Roxb.
ชื่อสกุล
Gmelina
คำระบุชนิด
arborea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กำม่าทุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี, กำแพงเพชร); แก้มอ้น (นครราชสีมา); ช้องแมว (ชุมพร); เซาะแมว (มลายู-นราธ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี