แต้วเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๐ ม. มีน้ำยางใสสีเหลือง เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทา
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๔-๙ ซม. ปลายแหลม มน หรือมนกลม โคนรูปลิ่ม มน หรือมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงและเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ มีเส้นแทรกระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบอ่อนสีแดงหรือสีแดงอมน้ำตาล
ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามกิ่งพร้อมผลิใบ แต่ละช่อมีได้ถึง ๔ ดอก ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๔-๑.๖ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๘ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ กลีบวงใน ๒ กลีบ สีเขียวหรือสีแดงแกมสีเขียว รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูหรือสีขาว เรียงซ้อนเหลื่อม รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ขอบกลีบเรียบ ไร้ขน มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น ๓ กลุ่ม ยาว ๐.๗-๑ ซม. อับเรณูสีเหลือง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปเป็นเกล็ด เรียงสลับกับกลุ่มเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาว ๒-๕ มม. ยื่นโผล่เหนือหรืออยู่ใต้กลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปกระสวย กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. สีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมดำ เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมี ๕-๖ เมล็ด กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน หุ้มผลประมาณ ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวผล มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ผลแก่แตกเป็น ๓ เสี้ยว เมล็ดสีน้ำตาล แบน รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๖-๗ มม. มีปีกบาง
แต้วมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบตามป่าที่ลุ่มต่ำ ป่าพรุ และป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๘๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมาเลเซีย บอร์เนียว และสุมาตรา.