เจอราเนียมเชียงดาว

Geranium lambertii Sweet subsp. siamense (Criab) T. Shimizu

ชื่ออื่น ๆ
เจราเนียมเชียงดาว
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นค่อนข้างสั้น หน่อและไหลฉ่ำน้ำ รากเป็นกระจุกฝอย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบคล้ายแบบก้นปิด รูปค่อนข้างกลมขอบเว้าลึกเป็นแฉกเกือบถึงก้านใบ ๓-๕ แฉก รูปไข่กลับหรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ช่อดอกแบบช่อกระจุกน้อย ออกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด มี ๒-๔ ดอก ส่วนใหญ่มักพบเพียง ๒ ดอก ดอกสีชมพูอ่อนอมม่วงอ่อน ผลแบบผลแยกแล้วแตก รูปทรงกระบอกแคบ มียอดเกสรเพศเมียติดทน

เจอราเนียมเชียงดาวเป็นไม้ล้มลุกหลายปีลำต้นค่อนข้างสั้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. แตกแขนง และมีไหลยาวได้ถึง ๔๐ ซม. หน่อและไหลฉ่ำน้ำรากเป็นกระจุกฝอย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบคล้ายแบบก้นปิดรูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑.๕-๔ ซม. ขอบเว้าลึกเป็นแฉกเกือบถึงก้านใบ ๓-๕ แฉก รูปไข่กลับหรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้างและยาวประมาณ ๒ ซม. แต่ละแฉกจักลึกหรือตื้นไม่สม่ำเสมอ ปลายแหลมหรือมน โคนใบเว้าลึกรูปหัวใจ ด้านบนสีเขียวเข้ม ตามแนวเส้นโคนใบอาจมีสีจางกว่าและเป็นร่อง เส้นโคนใบ ๕-๙ เส้น เส้นแขนงใบ ๒-๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบยาว ๒-๔ ซม. หรืออาจยาวได้ถึง ๘ ซม. มีขนยาว ใบที่อยู่บน ๆ มีก้านสั้น หูใบรูปแถบ ยาวประมาณ ๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกน้อย ออกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด มี ๒-๔ ดอก ส่วนใหญ่มักพบเพียง ๒ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๕-๙ ซม. อาจพบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. มีขนค่อนข้างหนาแน่น ใบประดับรูปใบหอกแคบ กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. มีขนสั้นหนาแน่น ใบประดับย่อยรูปใบหอกแคบขนาดเล็กและสั้น ก้านดอกยาว ๒.๕-๔ ซม. มีขนยาวสีขาวหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียว รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายเป็นติ่งยาวประมาณ ๒ มม. กลางกลีบด้านนอกมีสันตามยาว มีขนยาวสีขาวหนาแน่น กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูอ่อนอมม่วงอ่อน บอบบาง ช้ำง่าย เรียงสลับกับกลีบเลี้ยง กลีบรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๔ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๗ ซม. ปลายมนกลมหรือเว้าตื้น เส้นกลีบสีม่วงแดง ๕-๗ เส้น เห็นชัด เกสรเพศผู้ ๘-๑๐ เกสร อาจลดรูปเหลือเพียงก้านชูอับเรณู ก้านชูอับเรณูยาว ๘-๙ มม. โคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปคนโท ปลายแยก อับเรณูสีน้ำตาล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลขนาดเล็ก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียมี ๕ แฉก รูปเส้นด้าย สีแดง

 ผลแบบผลแยกแล้วแตก รูปทรงกระบอกแคบกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. แตกเป็น ๕ เสี่ยง แตกจากโคนสู่ปลาย มียอดเกสรเพศเมียติดทน

 เจอราเนียมเชียงดาวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามยอดเขาหินปูนที่เปิดโล่งหรือป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๘๐๐-๒,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงมกราคมเป็นผลเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เจอราเนียมเชียงดาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Geranium lambertii Sweet subsp. siamense (Criab) T. Shimizu
ชื่อสกุล
Geranium
คำระบุชนิด
lambertii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Sweet, Robert
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. siamense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Criab) T. Shimizu
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1783-1835)
ชื่ออื่น ๆ
เจราเนียมเชียงดาว
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ