กะทกรกชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีกิ่งก้านมาก มีขนตามกิ่ง กิ่งแก่มีหนามใหญ่โค้งเล็กน้อย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๐.๗-๓.๘ ซม. ยาว ๒-๙.๕ ซม. ปลายมน โคนสอบหรือมนขอบเรียบ ก้านใบยาว ๓-๗ มม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ยาว ๐.๕-๓.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๔ มม. มีขน ดอกเล็ก สีขาวกลิ่นหอม ก้านดอกสั้น มีขน ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๒ มม. มีขน ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายตัด กลีบดอก ๓-๖ กลีบ รูปแถบ ปลายแหลมโคนติดกันเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๓ อัน เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๕-๖ อัน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๓ เม็ด รูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปไข่ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. มีวงกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่หุ้มผล ประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วน ผลสุกสีเหลืองหรือส้ม
กะทกรกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย
เปลือกใช้เป็นยาแก้ไข้ (Perry and Metzger, 1980)