เจอราเนียม

Pelargonium × hortorum L. H. Bailey

ชื่ออื่น ๆ
เจราเนียม
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเอนใบเดี่ยว เรียงเวียนแน่นเป็นกระจุก รูปเกือบกลม ครึ่งวงกลม หรือคล้ายพัด ขอบหยักเว้าลึก ๕-๑๑ หยักช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามปลายยอดหรือปลายกิ่ง ดอกมีหลายสี เช่น สีแดง สีชมพู สีอมส้ม สีขาวผลแบบผลแยกแล้วแตก รูปทรงกระบอกแคบ

เจอราเนียมเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเอน สูงได้ถึง ๖๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนแน่นเป็นกระจุก รูปเกือบกลม ครึ่งวงกลม หรือคล้ายพัด กว้างและยาว ๒-๗ ซม. ปลายมนกลม ขอบหยักเว้าลึก ๕-๑๑ หยัก แต่ละหยักมีหยักเล็กขนาดไม่เท่ากันตลอดแนวขอบใบ โคนเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจ เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เส้นแขนงใบของเส้นโคนใบเส้นที่อยู่กลาง ๆ มีข้างละ ๒-๓ เส้น มักอยู่ค่อนไปทางปลายเส้นใบ ส่วนเส้นแขนงใบของเส้นโคนใบเส้นที่อยู่ล่าง ๆ มักแยกที่ใกล้โคนเส้นใบ แผ่นใบมีขนต่อมสั้นนุ่มหนาแน่น มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านใบยาว ๒.๕-๘ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ มม. มีขนต่อมสั้นนุ่มหนาแน่น

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามปลายยอดหรือปลายกิ่ง กว้าง ๑๐-๒๐ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม.ก้านช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๗-๑๕ ซม.เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. มีร่องตามยาวเกือบตลอดก้าน ๑-๒ ร่อง มีขนต่อมสั้นนุ่มหนาแน่น ดอกมีหลายสี เช่น สีแดง สีชมพู สีอมส้ม สีขาว ดอกตูม



มักห้อยคว่ำลง เมื่อบานตั้งขึ้น ใบประดับเรียงกันเป็นกระจุกตรงรอยต่อระหว่างก้านช่อดอกกับก้านดอกรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม มีขนสั้นหนาแน่นก้านดอกรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๒-๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๓.๔ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายแหลม มีกลีบหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ เล็กน้อย กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดต่างกันเล็กน้อยรูปไข่กลับถึงรูปไข่กลับกว้าง กว้าง ๑.๕-๒.๒ ซม. ยาว ๒.๓-๒.๗ ซม. ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสรอยู่ตรงซอกระหว่างโคนรังไข่กับโคนกลีบดอก บางครั้งพบเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๔-๖ เกสร ที่เหลือเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๗ มม. สีส้มถึงสีน้ำตาลอมแดง อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๓-๔ มม. สีเขียว มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปคล้ายเส้นด้าย

 ผลแบบผลแยกแล้วแตก รูปทรงกระบอกแคบกว้าง ๑.๕-๒.๘ มม. ยาว ๒.๕-๔ ซม.

 เจอราเนียมเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ มักพบปลูกในพื้นที่สูงจากระดับทะเลและมีอุณหภูมิต่ำ พืชชนิดนี้เป็นลูกผสมที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ มีลักษณะร่วมของหลายชนิด เช่น Pelargonium zonale (L.) L’Hér., P. inquinans (L.) L’Hér.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เจอราเนียม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pelargonium × hortorum L. H. Bailey
ชื่อสกุล
Pelargonium
คำระบุชนิด
hortorum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bailey, Liberty Hyde
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1858-1954)
ชื่ออื่น ๆ
เจราเนียม
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ