ไคร้ต้นเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. ตามกิ่งมีขนกำมะหยี่ เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นแผ่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง ๒.๗-๖.๗ ซม. ยาว ๔.๖-๑๙.๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม มีติ่งหนาม โคนเบี้ยว เว้าตื้น หรือกลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สีออกเทา ด้านล่างสีเขียว เมื่อแก่สีนํ้าตาล เส้นกลางใบและเส้นใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๓-๔.๕ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓.๒ มม. ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุก มีก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๕ มม. อยู่เหนือซอกใบ แต่ละกระจุกมี ๕-๑๐ ดอก หรืออาจมากกว่า ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียมักอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศเมียบานก่อนดอกเพศผู้สมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง วงนอกมีขนาดใหญ่กว่าไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๓ ซม. ค่อนข้างเกลี้ยง สีเหลือง กลีบเลี้ยงแข็ง รูปรีแกมรูปไข่ค่อนข้างหนา กว้าง ๑.๖-๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาว ๑.๕-๒ มม. ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณูลีนวลหรือสีเทา ยาวประมาณ ๑ มม. แกนอับเรณูยื่นเป็นซี่ฟันแหลม ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ก้านดอก ยาว ๓-๘ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแบน กว้าง ๐.๙-๑.๑ ซม. ยาว ๔.๕-๗ มม. สีเขียว เมื่ออ่อนมีขนยาวประปราย เมื่อแก่เกลี้ยง ไม่จักเป็นพู รอยเชื่อมเห็นไม่ชัดผนังผลบางมาก แกนกลางผลยาวประมาณ ๓ มม. โคนกว้าง ที่ปลายแยกเป็นแถบ เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวกว้าง ๓.๒-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม.
ไคร้ต้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้พบทั่วไปตามที่โล่งในป่าชายหาด ตามพื้นที่ที่ถูกรบกวนในป่ารุ่น ชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึง ประมาณ ๘๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่แคว้นอัสสัม คาบสมุทรมลายู และอินโดนีเซีย.