เจหลวงเป็นปาล์มกอ สูงได้ถึง ๓ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๑.๕-๔ ซม. สีแดงเรื่อหรือสีน้ำตาลอมส้ม มีรอยแผลกาบใบเป็นวงรอบลำต้นเห็นชัดเจน
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียนที่ปลายลำต้น กาบใบยาว ๒๐-๔๕ ซม. สีเหลือง สีส้ม หรือสีเหลืองอมส้ม มีขนสีน้ำตาลอมแดงหรือสีม่วง กาบใบเรียงซ้อนกันแน่นคล้ายลำต้นเทียมรูปทรงกระบอกอยู่ที่ปลายลำต้น ลิ้นใบยาวประมาณ ๕ ซม. สีน้ำตาล ก้านใบยาว ๒๕-๖๐ ซม. แกนกลางใบยาว ๑.๘-๒ ม. ก้านใบและแกนกลางใบสีเหลือง ใบย่อย ๓๐-๔๖ ใบ เรียงสลับชิดกันเป็นระเบียบ รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๔๕-๗๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเชื่อมติดกับแกนกลางใบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีเทาอ่อน ใบย่อยคู่ปลายมีปลายตัดและหยักไม่เท่ากัน เส้นใบเรียงขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกใกล้ปลายลำต้นใต้กลุ่มกาบใบ ช่อห้อย ความยาวรวมก้านช่อดอกประมาณ ๑๐ ซม. ก้านช่อดอกกว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. แกนกลางช่อดอกยาวประมาณ ๕ มม. มีช่อแขนง ๒-๗ ช่อ แกนกลางช่อแขนงยาว ๕-๘ ซม. ตรง รูปสี่เหลี่ยมในภาคตัดขวาง เกลี้ยงดอกออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ดอก เรียงสลับระนาบเดียวตามแกนกลางช่อแขนง ดอกด้านข้างเป็นดอกเพศผู้ดอกกลางเป็นดอกเพศเมีย ดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๓.๕ มม. ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๓.๕ มม. กลีบดอก ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ดอกเพศเมียยาวประมาณ ๓ มม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉกยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมนกลม ขอบมีขนครุย กลีบดอก ๓ กลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. ขอบมีขนครุย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกระสวยหรือรูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. สุกสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ มี ๑ เมล็ด เนื้อเมล็ดมีรอยย่น
เจหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๗๕๐-๑,๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลไม่แน่นอน ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย.