กะตืดแมว

Desmodium megaphyllum Zoll.

ไม้พุ่ม ผลัดใบ ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย โคนใบย่อยคู่ล่างเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงแกมน้ำเงิน ฝักแบน คอดเป็นข้อ มีขนสาก

กะตืดแมวเป็นไม้พุ่ม ผลัดใบ สูง ๑-๓ ม. แตกกิ่งมากตามกิ่งมีช่องอากาศสีน้ำตาลอมแดงหรือน้ำตาลไหม้และมีขนสีขาว หูใบร่วงง่าย รูปสามเหลี่ยม ปลายยาวคล้ายหางหรือเรียวแหลม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบ ประกอบยาว ๓.๕-๘ ซม. มีขน ใบย่อยใบกลางรูปไข่ กว้าง ๖-๙ ซม. ยาว ๙-๑๔ ซม. ปลายแหลม โคนมน ก้านใบยาว ๑-๔ ซม. มีขน ใบย่อยคู่ข้างเล็กกว่า กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๖-๙ ซม. ปลายแหลม โคนมนและเบี้ยว ก้านใบสั้นมาก แผ่นใบย่อยมีขนทั้ง ๒ ด้าน แต่ด้านล่างขึ้นหนาแน่นกว่า โคนใบย่อยทั้ง ๓ ใบ มีหูใบย่อย ๑ คู่ รูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๕-๗ มม. ด้านนอกมีขน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ขนาดใหญ่ ออกที่ยอด ตามง่ามใบจะเป็นช่อกระจะหรือช่อแยกแขนงแต่ขนาดเล็กกว่าช่อดอกที่ยอด ยาว ๙-๔๐ ซม. ก้านช่อดอกมีขนหนาแน่น ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงแกมน้ำเงิน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑.๔ ซม. กลีบเลี้ยงยาว ๔-๕ มม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๔ แฉก กลีบดอกคู่ข้างยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. ยาวกว่ากลีบกลางและกลีบคู่ล่าง เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๑-๑.๒ ซม. มีขน

 ฝักแบน กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๖-๙ มม. คอดเป็นข้อระหว่างเมล็ด ๔-๘ ข้อ มีขนยาวและสั้นคละกัน ขนสั้นปลายโค้ง ก้านฝักสั้น เมล็ดรูปไต กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๓-๔ มม.

 กะตืดแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก พบตามไหล่เขาและหน้าผา ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๘๐๐ ม. ขึ้นไปในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดียตะวันออก พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตราและเกาะชวา).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะตืดแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Desmodium megaphyllum Zoll.
ชื่อสกุล
Desmodium
คำระบุชนิด
megaphyllum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Zollinger, Heinrich
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1818-1859)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวอำไพ ยงบุญเกิด