โชคนุ้ยเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก มีมือจับยาว ๑-๓ ซม. ผิวเป็นตุ่มสีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปรีถึงรูปรีแกม รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๘.๒ ซม. ยาว ๓.๒-๑๕.๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนถึงรูปลิ่ม ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนเป็นมันวาว เส้นโคนใบ ๓ เส้น พบน้อยที่มี ๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบเรียว ยาว ๐.๘-๓.๒ ซม. เกลี้ยง หูใบรูปขอบขนานถึงรูปเคียว กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว ๙.๕-๑๗ ซม. ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง แกนกลางช่อมีขนสั้นสีน้ำตาล ดอกตูมรูปเกือบกลม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ก้านดอกยาว ๐.๘-๒.๒ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลประปราย ใบประดับรูปลิ่มแคบ โค้งลง มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับย่อยมีขนาดเล็กมาก คล้ายเกล็ดดอกมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกับฐานดอกเป็นรูปถ้วยหรือรูปลูกข่างเบี้ยว กว้างและยาว ๒.๕-๔ มม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก มีขนสั้นนุ่มสีทองหรือเกือบเกลี้ยง กลีบดอกสีส้มถึงสีแดง รูปช้อน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔.๕-๗ มม. โคนกลีบสอบเรียวคล้ายก้านยาว ๓.๕-๔ มม. กลีบในสุดยาวที่สุด เป็นสัน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน อีก ๔ กลีบ ด้านนอกเกลี้ยงถึงมีขนเล็กน้อยตามขอบ ด้านในมีขนคล้ายเส้นไหมอยู่ตรงกลาง เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์ ๓ เกสร รูปแถบ กว้าง ๐.๒-๐.๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. แบน เกลี้ยง โค้งลงเมื่อดอกบาน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน เป็นเส้นเรียว กว้างประมาณ ๐.๑ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. แทรกอยู่ระหว่างเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ประมาณ ๔ มม. มีขนยาวสีน้ำตาลหนาแน่น มี ๑ ช่องออวุล ๑-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่น
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปช้อน ค่อนข้างแบน กว้าง ๕.๗-๕.๘ ซม. ยาว ๑๔-๑๗ ซม. มีขนสีสนิมถึงสีน้ำตาล ปลายผลเป็นติ่งแหลม ก้านผลยาวประมาณ ๑.๕ มม. เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงกลมเส้นรอบวงประมาณ ๒.๕ ซม. สีดำเป็นมัน มี ๑-๔ เมล็ด
โชคนุ้ยเป็นพรรณไม้ที่มีรายงานว่าพบในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.