เจตมูลเพลิงแดงเป็นไม้ล้มลุกหลายปีกึ่งไม้พุ่มสูง ๐.๕-๑.๕ ม. แตกกิ่งก้านมากบริเวณโคนต้นบางครั้งมีรากออกตามกิ่ง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๒-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนมนถึงสอบเรียวเข้าหาก้านใบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวหม่นเส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. ใบตามกิ่งที่มีช่อดอกมักมีรูปร่างและขนาดเล็กกว่าใบตามกิ่งทั่วไป
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านช่อและแกนช่อสีเขียวแกมม่วงแดง เกลี้ยง ใบประดับรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยงใบประดับย่อยรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก สีแดงก้านดอกสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด กลีบเลี้ยงสีแดง ยาว ๘-๙ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายหยักซี่ฟันเล็ก ๕ หยัก ด้านนอกมีขนต่อมสีแดงถึงสีแดงแกมเขียวปลายเป็นต่อมสีแดง กลีบดอกสีแดง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓.๕ ซม. ปลายผายเป็นรูปปากแตรแยกเป็น ๕ กลีบ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้างได้ถึง ๗ มม. ยาวได้ถึง ๑ ซม. ปลายมนและมีติ่งแหลมเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดตรงข้ามกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวใกล้เคียงกับหลอดกลีบดอก โคนก้านแผ่แบน อับเรณูสีแดงหรือสีม่วงแดง รูปขอบขนาน ปลายอับเรณูโผล่พ้นคอหลอดกลีบดอกเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่แกมรูปรีถึงแกมรูปขอบขนาน มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว โคนก้านมีขน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปขอบขนาน มีกลีบเลี้ยงติดทนหุ้ม เมล็ดทรงรูปไข่ มักไม่พบการติดผล
เจตมูลเพลิงแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคกลาง มีทั้งที่ขึ้นตามธรรมชาติและปลูก พบขึ้นตามป่าไผ่ ชายป่าโปร่ง ออกดอกเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ รากและใบใช้เป็นสมุนไพร.