ไคร้งอย

Itea riparia Collett et Hemsl.

ไม้ต้นหรือไม้พู่ม เปลือกสีเทา กระพี้สีขาวแกมเหลือง เหนียวและแข็งมาก ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปใบหอก รูปรี หรือรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีประสีชมพูเรื่อ ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ ปลายโค้งออก มียอดเกสรเพศเมียและกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปสามเหลี่ยม สีดำ

ไคร้งอยเป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่ม สูง ๑-๔ ม. เปลือกเรียบ สีเทา กระพี้สีขาวแกมเหลือง เหนียวและแข็งมากกิ่งอ่อนมีขนสั้นสีเทาค่อนข้างหนาแน่นและร่วงง่ายมีช่องอากาศสีนํ้าตาลอ่อนประปราย ตายอดเรียวแหลมรูปโบหอก ยาว ๓-๕ มม. มีกาบรูปใบหอกบริเวณโคน ๒-๓ กาบ และมักมีนํ้ามันใสเคลือบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก รูปรี หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน แล้วหยักคอดเป็นติ่งแหลม โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักเรียวแหลมคล้ายหนาม ปลายสุดมักงุ้มเข้าหาขอบใบ และมีสีนํ้าตาลเข้ม แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนทางด้านล่างมีขนสีเทาสั้นประปรายและมีจุดประสีเข้มทั่วไป เส้นกลางใบนูนทางด้านล่างและเป็นร่องทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ปลายเส้นโค้งไปจรดกับเส้นถัดขึ้นไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยง เมื่อแห้งหยิกย่นและสีออกนํ้าตาลเข้ม

 ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก กระจุกละ ๒-๓ ดอก ก้านดอก ยาว ๒-๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดถันเป็นรูปถ้วย


ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก แฉกกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. มีสีแดงเรื่อตามขอบแฉก กลีบ ดอก ๕ กลีบ เรียงสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๕ มม. สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีประสีชมพูเรื่อ ขอบกลีบจรดกันขอบและปลายงุ้ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดตรงกับกลีบดอก ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่กิ่งใต้วงกลีบหรือเหนือวงกลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แยกกันชัดเจนเมื่อเป็นผล แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ก้านแนบชิดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ แยกกันรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ ปลายโค้งออก แต่ละผลกว้าง ประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีเกล็ดสีนํ้าตาลตามผิว มียอดเกสรเพศเมียและกลีบเลี้ยงติดทนเมล็ดมีหลายเมล็ด สีดำ รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม.

 ไคร้งอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบขึ้นตามธารน้ำไหล ชายลำห้วยในป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. เป็นพืชทนน้ำไหลออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่พม่า

 ประโยชน์ ไคร้งอยเหมาะแก่การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือเกษตร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้งอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Itea riparia Collett et Hemsl.
ชื่อสกุล
Itea
คำระบุชนิด
riparia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Collett, Henry
- Hemsley, William Botting
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Collett, Henry (1836-1901)
- Hemsley, William Botting (1843-1924)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย