แตงโมป่า

Gymnopetalum scabrum (Lour.) W. J. de Wilde et Duyfjes

ชื่ออื่น ๆ
ขี้กาขาว, ขี้กาแดง (กลาง); มะกาดิน (เชียงใหม่)
ไม้เถาล้มลุก ลำต้นมีขนสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน มือพันเป็นเส้นยาวปลายไม่แยกหรือเป็นเส้นปลายแยกเป็น ๒ แฉกลึกลงถึงใกล้โคน ยาวไม่เท่ากัน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลม รูปไต รูปไข่กว้าง หรือรูปห้าเหลี่ยม ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว กลางดอกสีเหลือง ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อแบบช่อกระจะ ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี สีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีส้มและสีแดง เมล็ดแบน รูปรีแกมรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

แตงโมป่าเป็นไม้เถาล้มลุก ยาวได้ถึง ๓ ม. มักมีรากตามข้อ ลำต้นมีขนสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน มือพันเป็นเส้นยาวปลายไม่แยกหรือเป็นเส้นปลายแยกเป็น ๒ แฉกลึกลงถึงใกล้โคน ยาวไม่เท่ากัน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลม รูปไต รูปไข่กว้าง หรือรูปห้าเหลี่ยม กว้างและยาว ๒-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ หยักซี่ฟัน หรือหยักตื้น ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ใบแก่มักหยิกย่นหรือมีผลึกหินปูน ด้านล่างมีขนหนาแน่นหรือมีขนตามเส้นใบ เส้นโคนใบมี ๕ เส้น เส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบข้างละ ๑-๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นใบเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๖ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามซอกใบ ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวหรือเป็นช่อแบบช่อกระจะ มักมี ๒-๔ ดอก ใบประดับรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักลึก ดอกสีขาว กลางดอกสีเหลือง ก้านดอกยาวไม่เท่ากัน ก้านดอกเดี่ยวยาว ๒-๑๒ ซม. ก้านดอกในช่อยาว ๑-๒ ซม. มีขน ฐานดอกรูปกรวย กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก ยาว ๔-๘ มม. ปลายแหลมหรือเป็นแฉก มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. เส้นกลีบเห็นชัด ขอบมักเป็นครุย โคนกลีบเรียว เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน ยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๒.๕ มม. อับเรณูสีเหลือง ขดไปมา กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ปลายตัด ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ๑-๓ ซม. ฐานดอกรูปหลอด กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้แต่เล็กกว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรีหรือรูปกระสวย กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๗-๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก เรียว ยาวประมาณ ๒ มม.

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. มีขน เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง สีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีส้มและสีแดง เมล็ดแบน รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๖-๙ มม. หนา ๑.๕-๒ มม. มีจำนวนมาก ขอบมน

 แตงโมป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ตามริมทางหรือที่รกร้าง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะซุนดาน้อย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แตงโมป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gymnopetalum scabrum (Lour.) W. J. de Wilde et Duyfjes
ชื่อสกุล
Gymnopetalum
คำระบุชนิด
scabrum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- de Wilde, Willem Jan Jacobus Oswald
- Duyfjes, Brigitta Emma Elisabeth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- de Wilde, Willem Jan Jacobus Oswald (1936-2021)
- Duyfjes, Brigitta Emma Elisabeth (1936-)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้กาขาว, ขี้กาแดง (กลาง); มะกาดิน (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์