เชียดใบใหญ่เป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๕ ม. เส้นรอบวง ๒๕-๗๐ ซม. เรือนยอดเป็นพุ่ม รูปทรงเจดีย์ต่ำ เปลือกเรียบ สีเทาอ่อน มีช่องอากาศทั่วไป เปลือกในสีน้ำตาล มีกลิ่นหอมอ่อน โคนต้นมักมีพูพอนต่ำทุกส่วนที่ยังอ่อนมีขนนุ่มค่อนข้างหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรืออาจเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกว้าง ๔-๖.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่มเล็กน้อย ขอบเรียบหรืออาจเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนหนานุ่มโดยเฉพาะตามเส้นใบเส้นโคนใบ ๓ เส้น แต่ละเส้นยาวไปสู่ปลายใบ เห็นนูนเด่นเป็นสันทางด้านล่างและเป็นร่องทางด้านบนเส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดและแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. มีขนหนาแน่น เมื่อแห้งจะย่นและออกสีน้ำตาลคล้ำ
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือตามปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๕ ซม. ทุกส่วนมีขนสีเทาหนานุ่ม ช่อย่อยปลายสุดเป็นกระจุก กระจุกละ ๓ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสีเทาประปราย โคนก้านดอกมีใบประดับรูปรียาวประมาณ ๒ มม. ร่วงง่าย ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบรวมมี ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมคล้ายเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบชั้นในรูปคล้ายชั้นนอก แต่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ทุกกลีบมีขนสีเหลืองทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย เกสรเพศผู้ ๙ เกสร พบน้อยที่มี ๖ เกสร สีเหลือง เรียงเป็น ๓ วง รอบรังไข่ พบน้อยที่มี ๒ วง วงนอกกับวงกลางอับเรณูหันเข้าหารังไข่ ส่วนวงในสุดอับเรณูหันออก อับเรณูมี ๔ ช่อง มีลิ้นเปิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่องออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียปลายสุดแยกเป็นแฉกโค้ง ๓ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีแกมรูปไข่กลับหรือรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. โคนผลมีกลีบรวมติดทนและขยายใหญ่ เมล็ดทรงรูปไข่ ขนาดเล็กกว่าผลเล็กน้อย
เชียดใบใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและมาเลเซีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ใบให้น้ำมันหอมระเหย เปลือกและใบใช้เป็นเครื่องเทศและยา.