กะตังใบชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๑๐ ม. ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนบ้างเล็กน้อย
ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๑๐-๒๕ ซม. หูใบรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาวได้ถึง ๖ ซม. เห็นชัดเจนขณะใบยังอ่อน และร่วงง่ายเมื่อใบแก่เหลือไว้เฉพาะรอยแผลรูปสามเหลี่ยม ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๒ ซม. ยาว ๘-๒๔ ซม. ปลายแหลมโคนสอบเล็กน้อยหรือมน ขอบจักแหลม แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๖ เส้น ก้านใบย่อยยาวไม่เกิน ๒.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ดอกเล็กสีขาวอมเขียวหรือขาวอมเหลือง กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกส่วนล่างติดกัน ด้านในเชื่อมติดกับส่วนของเกสรเพศผู้ ส่วนบนแยกเป็นแฉกเรียว ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล ๑ เม็ด
ผลกลม ด้านบนแบน กว้าง ๐.๕-๑ ซม. เมล็ดรูปไข่
กะตังใบชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบและป่าผลัดใบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลียและฟิจิ
ในมาเลเซียใช้แก้อาการคันตามผิวหนัง อินโดนีเซียใช้พอกศีรษะแก้ไข้ (Burkill, 1966) อินเดียใช้ใบแก้เวียนศีรษะ
รากแก้บิดและท้องร่วง (Thacker ed., 1962) ไทยใช้รากเป็นยาขับเหงื่อ ระงับความร้อน แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ตามร่างกาย (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ, ๒๕๒๑)