เตียง

Amorphophallus lacourii Linden et André N. E. Br.

ชื่ออื่น ๆ
บอนโก (สิงห์บุรี); บุกอีรอก (นครราชสีมา)
ไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลม รูปคล้ายลูกข่าง รูปทรงไม่แน่นอนที่มีด้านยาวยาวกว่าด้านกว้าง หรือหัวแตกหน่อด้านตั้ง ใบมี ๑-๓ ใบ แต่ละใบคล้ายใบประกอบแบบนิ้วมือ มี ๓ ส่วน ส่วนกลางขอบหยักลึกสุดแบบขนนก คล้ายมีใบย่อย ๓-๕ ใบ หรือขอบไม่หยัก คล้ายมีใบย่อย ๑ ใบ ส่วนที่อยู่ด้านข้างขอบหยักลึกสุดแบบขนนกข้างละ ๒-๕ หยัก คล้ายมีใบย่อย ๕-๑๑ ใบ รูปใบหอก รูปรีกว้าง รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ก้านใบสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน พบน้อยที่สีม่วงอ่อน มีจุดและแถบสีขาว สีเขียวเข้ม หรือสีค่อนข้างดำ หรือไม่มี ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑-๕ ช่อ ช่อดอกสั้นกว่าหรือยาวเท่ากับความยาวของกาบช่อดอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์สีขาวนวล ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ ส่วนโคนช่อเป็นช่วงดอกเพศเมีย ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ สีเขียว สุกสีแดงหรือสีแดงอมส้ม มีเมล็ด ๑ เมล็ด

เตียงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลม รูปคล้ายลูกข่าง รูปทรงไม่แน่นอนที่มีด้านยาวยาวกว่าด้านกว้าง หรือหัวแตกหน่อด้านตั้ง กว้าง ๔-๓๕ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม.

 ใบมี ๑-๓ ใบ แต่ละใบคล้ายใบประกอบแบบนิ้วมือ มี ๓ ส่วน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๒-๑ ม. ส่วนกลางขนาดเล็กกว่าส่วนที่อยู่ด้านข้าง ยาว ๑๕-๔๐ ซม. ขอบหยักลึกสุดแบบขนนก ข้างละ ๑-๒ หยัก คล้ายมีใบย่อย ๓-๕ ใบ หรือขอบไม่หยัก คล้ายมีใบย่อย ๑ ใบ ส่วนที่อยู่ด้านข้างยาว ๒๕-๕๕ ซม. ขอบหยักลึกสุดแบบขนนกข้างละ ๒-๕ หยัก คล้ายมีใบย่อย ๕-๑๑ ใบ หยักหรือส่วนคล้ายใบย่อยรูปใบหอก รูปรีกว้าง รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๑๑ ซม. ยาว ๗-๓๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบด้านบนสีเขียว มีจุดรูปกลมหรือรูปค่อนข้างกลม สีขาว พบน้อยที่มีสีม่วงอ่อน ประปรายถึงจำนวนมาก แยกกันหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางของหยักหรือเส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบแบบขนนกข้างละหลายเส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห แต่ละส่วนมีก้านยาวได้ถึง ๕ ซม. ก้านใบเรียบ สีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน พบน้อยที่สีม่วงอ่อน มีจุดและแถบสีขาว สีเขียวเข้ม หรือสีค่อนข้างดำ หรือไม่มี กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. ยาว ๑๐-๗๐ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑-๕ ช่อ เกิดจาก ๑-๓ หน่อหลังจากใบคลี่ กาบช่อดอกระยะดอกเพศผู้บานเต็มที่สีเขียวทั้ง ๒ ด้าน สีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อนแกมสีขาว ด้านนอกอาจมีจุดรูปกลมสีขาวกระจาย รูปเรือ กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๓-๒๐ ซม. ปลายคุ่ม ปลายสุดโค้งคันศร ก้านช่อดอกเรียบ สีเหมือนก้านใบหรือสีอ่อนกว่า ยาว ๕-๗๐ ซม. ช่อดอกยาว ๒-๑๕ ซม. สั้นกว่าหรือยาวเท่ากับความยาวของกาบช่อดอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์สีขาวนวล พบน้อยที่มีสีเขียวอ่อน รูปกรวย ยาว ๐.๕-๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเชื่อมติดกันทางด้านข้าง มีรอยหยักเว้าคล้ายสมองหรือเป็นลูกฟูกเห็นชัด อาจลดรูปเป็นตอ เรียบหรือเป็นลูกฟูกตื้น โคนรยางค์มีก้านยาว ๐.๓-๑ ซม. ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ รูปทรงกระบอก คล้ายรูปกระสวย หรือรูปกรวยกลับ กว้าง ๑-๑.๔ ซม. ยาว ๑-๑๐ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงห่างกันรอบแกนช่อ พบน้อยที่เรียงชิดกันแน่น เกสรเพศผู้ ๓-๕ เกสร พบน้อยที่มี ๒ หรือ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น แยกกันหรือเชื่อมติดกัน ตรงหรือโค้งออกทางด้านนอก อับเรณูรูปทรงกลม แยกกันหรือเชื่อมติดกันภายในดอกเดียวกัน หรือเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันมีลักษณะคล้ายจาน ส่วนโคนช่อเป็นช่วงดอกเพศเมีย รูปทรงกระบอก กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๐.๕-๕ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นหรือเรียงห่างกันเล็กน้อยรอบแกนช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือทรงรูปไข่ค่อนข้างแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียกว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาว ๐.๔-๐.๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายจานหรือรูปครึ่งทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๔-๑ มม.

 ช่อผลรูปคล้ายทรงกระบอก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ สีเขียว สุกสีแดงหรือสีแดงอมส้ม มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 เตียงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง และชายป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตียง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Amorphophallus lacourii Linden et André N. E. Br.
ชื่อสกุล
Amorphophallus
คำระบุชนิด
lacourii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linden, Jean Jules
- André, Édouard-François
- Brown, Nicholas Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linden, Jean Jules (1817-1898)
- André, Édouard-François (1840-1911)
- Brown, Nicholas Edward (1849-1934)
ชื่ออื่น ๆ
บอนโก (สิงห์บุรี); บุกอีรอก (นครราชสีมา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี