เชียดน้อยเป็นไม้กึ่งพุ่มหรือไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงหรือกึ่งเลื้อย สูง ๙๐-๑๐๐ ซม. กิ่งกลมหรือค่อนข้างเป็นเหลี่ยม มีขนยาวสีเหลืองอ่อนหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ หรือลดรูปเหลือ ๑ ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๖-๑.๔ ซม. ยาว ๑.๙-๓ ซม. ใบย่อยที่ปลายมีขนาดใหญ่สุด กว้าง ๑.๓ ซม. ยาว ๔.๓-๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงและเป็นมันเล็กน้อย ด้านล่างนวล มีขนยาวสีเหลืองอ่อนหนาแน่น เส้นกลางใบเป็นสันนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เป็นสันนูนทางด้านล่าง ด้านบนค่อนข้างเรียบ มีขนสีเหลืองอ่อนหนาแน่น ก้านใบยาว ๑.๓-๑.๔ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบหรือรูปไข่แคบ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๐.๙-๑.๔ ซม.ปลายแหลม มีขนประปรายบริเวณขอบ ก้านใบย่อย ยาว ๑-๑.๕ มม. หูใบย่อยรูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๕-๕.๕ มม. ปลายแหลม มีขนประปรายบริเวณขอบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ กว้าง ๑.๗-๑.๘ ซม. ยาว ๑๐.๔-๑๖.๓ ซม. ออกตามซอกใบและปลายกิ่งดอกออกเป็นกระจุก กระจุกละ ๒-๓ ดอกตามแกนช่อ สีม่วงแดง รูปดอกถั่ว ดอกตูมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ก้านดอกยาว ๑-๓.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก มีขนสีเหลืองอ่อนหนาแน่น กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปรีถึงรูปเกือบกลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๕.๕ มม. ยาว ๔-๕.๕ มม. ปลายมนหรือแหลม กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายมนหรือกลม โคนกลีบสอบเรียวคล้ายก้านยาว ๐.๕-๑ มม. กลีบคู่ล่าง ๒ กลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปเรือ แต่ละกลีบรูปรี กว้าง ๑.๓-๒ มม. ยาว ๓.๕-๕ มม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร เชื่อมติดกัน อีกกลุ่มหนึ่งมี ๑ เกสร กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๓-๔.๕ มม. เกลี้ยง สีน้ำตาลแดง อับเรณูมี ๒ พู ติดที่ฐาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสีเหลืองอ่อนหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียไม่แยกเป็นแฉก
ผลแบบฝักหักข้อ ทรงรูปขอบขนาน ค่อนข้างแบน ขอบด้านหนึ่งค่อนข้างตรง อีกด้านหนึ่งหยักตามเมล็ด กว้าง ๒-๒.๘ มม. ยาว ๐.๘-๒.๑ ซม. มีขนสีเหลืองอ่อนหนาแน่น โคนผลมีกลีบเลี้ยงและเกสรเพศผู้ติดทน ก้านผลยาว ๓-๔ มม. เมล็ดรูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๒.๓ มม.
เชียดน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึง ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนและเวียดนาม
ประโยชน์ รากใช้เป็นยาต้มพื้นบ้านอีสานผสมรากมะเดื่อดินและผงปวกหาด เพื่อถ่ายพยาธิ.