เจตพังคี

Cladogynos orientalis Zipp. et Span.

ชื่ออื่น ๆ
ตองตาพราน (สระบุรี); ตะเกีย, เปล้าเงิน, หนาดตะกั่ว (นครราชสีมา); ใบหลังขาว (กลาง); เปล้าน้ำเงิน (ใต้
ไม้พุ่ม มีขนรูปดาวสีขาวหนาแน่นเกือบทั้งต้น ตามกิ่งมีต่อมไร้ก้านกระจายอยู่ทั่วไป ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปรี ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีเขียวอมเหลืองถึงสีขาว ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกกลมแน่นที่ปลายช่อ โคนช่อมีดอกเพศเมียซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ๑-๒ ดอก ผลแบบผลแห้งแยกแล้วแตกเป็น ๓ เสี่ยง รูปทรงกลม เมล็ดรูปค่อนข้างกลม

เจตพังคีเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. มีขนรูปดาวสีขาวหนาแน่นเกือบทั้งต้น ตามกิ่งมีต่อมไร้ก้านกระจายอยู่ทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๖.๕-๑๘ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนเว้าหรือมน ขอบหยักซี่ฟันห่าง ๆ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อยแผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างสีขาว มีขนรูปดาวหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เป็นร่องทางด้านบน นูนชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๗ ซม. ติดลึกเข้าไปเหนือโคนใบเล็กน้อย มีขนนุ่มสีขาว หูใบเล็ก รูปใบหอก ยาวประมาณ ๓ มม. ที่โคนมีต่อม ๑ ต่อม

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามซอกใบ ๑-๒ ช่อ ช่อยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขน ก้านช่อดอกอวบ ยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกสีเขียวอมเหลืองถึงสีขาว ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกกลมแน่นที่ปลายช่อ กระจุกกว้าง ๕-๖.๕ มม. ไม่มีก้านดอก ใบประดับเล็ก มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๒-๔ แฉก รูปไข่ ยาว ๑.๕-๒ มม. ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูแบน ยาว ๒-๓ มม. ปลายโค้งเข้าข้างในขณะดอกตูม อับเรณูรูปรี สีเหลือง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. เกสรเพศเมียเป็นหมัน รูปทรงกระบอกปลายตัด เกลี้ยงยาวประมาณ ๐.๕ มม. ดอกเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าอยู่ที่โคนช่อ ๑-๒ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๓ ซม. มีใบประดับ ๒ ใบ ลักษณะคล้ายใบ ๑ ใบ ยาวประมาณ ๙ มม. อีก ๑ ใบ รูปแถบ ยาวประมาณ ๔ มม. ร่วงง่าย


กลีบเลี้ยง ๖-๗ กลีบ รูปเส้นด้ายหรือลักษณะคล้ายใบรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปแถบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๐.๖-๑.๓ ซม. ปลายแหลม โคนเรียวแคบคล้ายก้าน กลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ขึ้นเมื่อดอกบาน มีต่อมกลมอยู่ระหว่างกลีบและตามขอบบ้างเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เป็น ๓ พู พบน้อยที่มี ๔ พู มีขนรูปดาวหนาแน่น มี ๓ ช่อง พบน้อยที่มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๗ มม. แยกแขนง ๓ แขนง พบน้อยที่มี ๔ แขนง แต่ละแขนงแยกเป็นยอดเกสรเพศเมีย ๒ แฉกรูปเส้นด้าย

 ผลแบบผลแห้งแยกแล้วแตกเป็น ๓ เสี่ยง รูปทรงกลม มี ๓ พู กว้าง ๖-๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนรูปดาวสีขาว เมล็ดรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง

 เจตพังคีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นใกล้ลำธาร ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐-๔๕๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนตุลาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เป็นพืชสมุนไพร ใช้รากเป็นยาขับลม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เจตพังคี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cladogynos orientalis Zipp. et Span.
ชื่อสกุล
Cladogynos
คำระบุชนิด
orientalis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Zippelius, Alexander
- Spanoghe, Johan Baptist
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Zippelius, Alexander (1797-1828)
- Spanoghe, Johan Baptist (1798-1838)
ชื่ออื่น ๆ
ตองตาพราน (สระบุรี); ตะเกีย, เปล้าเงิน, หนาดตะกั่ว (นครราชสีมา); ใบหลังขาว (กลาง); เปล้าน้ำเงิน (ใต้
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย