กะตังกะติ้ว

Willughbeia edulis Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
คุยช้าง (ปราจีนบุรี), คุยหนัง (ระยอง), ตั่งตู้เครือ (ลำปาง), โพล้พอ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ไม้พุ่มรอเลื้อย ทุกส่วนมียางเหนียวสีขาว ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ดอกรูปดอกเข็ม สีขาวหรือชมพูอ่อน ผลรูปไข่หรือกลม เปลือกเรียบและแข็งแก่จัดสีเหลือง

กะตังกะติ้วเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ทอดเอนเกาะเกี่ยวต้นไม้อื่นโดยมีมือเกาะ เปลือกหรือเถาเรียบ เกลี้ยง สีน้ำตาลเข้มทุกส่วนมียางขาวข้นหรือเหลืองอ่อน ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๗-๑๐ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นโคนมนหรือสอบ แผ่นใบหนา เป็นมัน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบถี่และเกือบขนานกัน มีข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นแขนงใบสั้น ๆ แทรกกลางจึงทำให้ดูเหมือนเส้นแขนงใบถี่มากขึ้น เส้นเหล่านี้เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวไม่เกิน ๑ ซม.

 ช่อดอกสั้น ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกน้อย ดอกสีขาวหรือชมพูเรื่อ ๆ เมื่อบานเต็มที่กว้าง ประมาณ ๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงเล็ก มี ๕ กลีบ ปลายกลีบมนและมีขนครุยตามขอบ กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดแคบรูปดอกเข็ม ปลายบานออกแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกเรียวแหลม ภายในหลอดด้านในมีขนประปราย ด้านนอกเกลี้ยงเกสรเพศผู้ติดอยู่ที่โคนหลอดกลีบดอกด้านใน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ขนาดเล็ก กลม มีช่องเดียว มีออวุลจำนวนมาก

 ผลรูปไข่หรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔.๕ ซม. เปลือกนอกหนา แข็ง เป็นมัน ภายในมีเนื้อนุ่มสีเหลืองอ่อนหุ้มเมล็ดอยู่ ผลแก่จัดสีเหลือง

 กะตังกะติ้วมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามชายป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า และมาเลเซีย

 เนื้อสีเหลืองในผลแก่กินได้ คนพื้นเมืองใช้ยางดักนก โดยเอายางนี้ไปทาไว้ตามแหล่งที่นกจะมาเกาะหรือทาไม้แล้วนำไปปักไว้ เมื่อนกมาเกาะหรือผ่านขนจะติดจนดิ้นไม่หลุด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะตังกะติ้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Willughbeia edulis Roxb.
ชื่อสกุล
Willughbeia
คำระบุชนิด
edulis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
คุยช้าง (ปราจีนบุรี), คุยหนัง (ระยอง), ตั่งตู้เครือ (ลำปาง), โพล้พอ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย