ไคร้ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. ลำต้นมักเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง ๑.๘-๓.๔ ซม. ยาว ๓.๒-๑๑.๒ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลมโคนเบี้ยว สอบแคบถึงสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เมื่อแห้งด้านบนสีเทา ด้านล่างสีออกน้ำตาล เส้นกลางใบและเส้นใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๓ มม. หูใบแข็ง รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กว้างประมาณ ๑.๔ มม. ยาว ๒-๓ มม. ร่วงช้า
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบกระจุกละประมาณ ๑๐ ดอก อาจเป็นกระจุกดอกเพศผู้และกระจุกดอกเพศเมีย ถ้ากระจุกที่พบทั้ง ๒ เพศอยู่ด้วยกัน ดอกเพศหนึ่งจะมีเพียง ๒-๓ ดอก ดอกสีเขียวถึงสีขาว สมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง วงนอกมีขนาดใหญ่กว่า ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕.๕ มม. ก้านดอกยาว ๘-๙ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กลับ กลีบวงนอกกว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบวงในกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ยาว ๑-๑.๕ มม. ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. แกนอับเรณูยื่นเป็นซี่ฟันยาวประมาณ ๐.๔ มม. ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์ กลางประมาณ ๑.๕ มม. ก้านดอกสั้น เมื่อเป็นผลยาวขึ้น ๐.๔-๔ มม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. กลีบวงในรูปรี กว้าง ๐.๔-๐.๘ มม. ยาว ๑-๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. มีขนหนาแน่นหรือมีเพียงเด็กน้อย มี ๔-๕ ซ่อง แต่ละ ช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยปลาย กว้าง ยาว ๒-๔ มม. ปลายสุดเป็นซี่ฟันทู่ ยาว ๐.๖-๐.๘ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแบนเกลี้ยง กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. เป็นพูรอบเมล็ดทุกเมล็ดรอยเชื่อมเห็นไม่ชัด แต่ละพูแยกจากโคน ผนังผลบางแกนกลางผลกว้างและยาวประมาณ ๒ มม. เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสียว กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๕.๓ มม. หนาประมาณ ๒.๕ มม.
ไคร้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบทั่วไปตามป่าดิบเขา ป่าผลัดใบผสม ป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน.