เต้าหลวงสยามเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๐ ซม. กิ่งคล้ายรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒-๒.๖ ซม. ตามปลายยอดมีขุยสีน้ำตาลอมเหลืองหม่น ส่วนอื่นค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกนอกสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอมส้ม มีช่องอากาศชัด มีน้ำยางสีแดง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้าง กว้างได้ถึง ๕๐ ซม. ยาวได้ถึง ๗๐ ซม. อาจพบขนาดเล็กกว่า ปลายมักหยักเป็น ๓ แฉก หรือค่อนข้างเรียบ ปลายหยักมีต่อมน้ำต้อยเล็ก ๆ โคนแบบก้นปิด ขอบค่อนข้างเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนด้านบนมีขนแบบขนแกะสั้นสีน้ำตาลอ่อนปนสีเหลืองหม่นหนาแน่น ใบแก่ด้านล่างมีขนนุ่มตรง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ก้านใบใหญ่ ยาว ๒๐-๕๐ ซม. รูปคล้ายทรงกระบอก ค่อนข้างมีนวล มีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลอ่อนปนสีเหลืองหม่น ติดลึกเข้ามาจากโคนใบ ๕-๑๕ ซม. หูใบใหญ่ รูปรี กว้างได้ถึง ๓ ซม. ยาวได้ถึง ๖ ซม. ตั้งตรง แผ่นหูใบเมื่ออ่อนหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวอมชมพู เมื่อแห้งบางคล้ายกระดาษ สีดำ ติดทน ค่อนข้างเกลี้ยง
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกเล็กเป็นกระจุก สีเขียวอ่อนอมเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เรียงจดกันในดอกตูม ไร้กลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้ง กว้าง ๑๐-๒๐ ซม. ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. มีแกนช่อได้ถึง ๕ ชั้น มีขนคล้ายขนแกะสั้นนุ่มหนาแน่น แต่ละกระจุกมี ๑๒-๒๕ ดอก ใบประดับย่อยรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมนถึงแหลมกว้าง โคนรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟันไม่เป็นระเบียบ มักมีต่อมน้ำต้อย มีขนคล้ายขนแกะ ก้านดอกสั้น ดอกยาวประมาณ ๐.๗ มม. กลีบเลี้ยงแยกกัน มีขนคล้ายขนแกะ เกสรเพศผู้ ๒-๓ เกสร อับเรณูมี ๔ ช่อง ช่อดอกเพศเมียยาว ๑๐-๑๘ ซม. มีแกนช่อได้ถึง ๔ ชั้น ส่วนอื่นคล้ายช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียยาวประมาณ ๒.๕ มม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปคล้ายคนโท ขอบหยักเล็กน้อย ติดทน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๕ มม. แยกเป็น ๒ แฉก ติดทน ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก
ผลแบบผลแห้งแตก มี ๒ พู รูปทรงค่อนข้างรีกว้าง กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาวประมาณ ๕ มม. สีเหลือง มีเมือกเหนียว ไร้หนาม ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทน ก้านผลยาว ๐.๘-๑.๓ ซม. มีขนคล้ายขนแกะ เมล็ดสีดำ ทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓.๕ มม. มีรอยเว้า มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีดำ
เต้าหลวงสยามมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่ารุ่น ป่าผลัดใบ และเขาหินปูน ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลาง ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาว และกัมพูชา.