เจแดง

Pinanga subintegra Ridl. var. intermedia Furtado ex C. K. Lim

ชื่ออื่น ๆ
หมากเจแดง (ทั่วไป)
ปาล์มกอ โคนต้นสีน้ำตาลอมแดงเข้ม มีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงเข้มจำนวนมาก ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียนที่ปลายลำต้น กาบใบสีเขียวเรียงซ้อนกันแน่นคล้ายลำต้นเทียมรูปทรงกระบอกอยู่ที่ปลายลำต้น มีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงเข้มกระจายทั่วไป ใบย่อย ๖ ใบ เรียงสลับห่างกันเป็นระเบียบแผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ไม่แตกแขนง ออกใกล้ปลายลำต้นใต้กลุ่มกาบใบ ช่อห้อยลง ดอกออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ดอก เรียงสลับระนาบเดียวตามแกนกลางช่อดอก ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง เมื่ออ่อนรูปกระสวย อาจโค้ง เมื่อแก่รูปทรงรีแคบ สุกสีแดงมี ๑ เมล็ด

เจแดงเป็นปาล์มกอ สูง ๑-๑.๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้นประมาณ ๕ มม. โคนต้นสีน้ำตาลอมแดงเข้ม มีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงเข้มจำนวนมาก รอยแผลกาบใบเป็นวงรอบลำต้นเห็นชัดเจน

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียนที่ปลายลำต้น กาบใบยาว ๖-๘ ซม. สีเขียว เรียงซ้อนกันแน่นคล้ายลำต้นเทียมรูปทรงกระบอกอยู่ที่ปลายลำต้นมีเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงเข้มกระจายทั่วไป ก้านใบยาว ๒.๕-๘ ซม. แกนกลางใบยาว ๑๒-๒๐ ซม. ใบย่อย ๖ ใบ เรียงสลับห่างกันเป็นระเบียบ รูปแถบหรือใบบิดเป็นรูปตัวเอส กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเชื่อมติดกับแกนกลางใบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบย่อยคู่ปลายมีปลายตัดเส้นใบเรียงขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดไม่แตกแขนง ออกใกล้ปลายลำต้นใต้กลุ่มกาบใบช่อห้อยลง ความยาวรวมก้านช่อดอกประมาณ ๗ ซม. ก้านช่อดอกกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. แกนกลางช่อดอกยาว ๔-๖ ซม. ตรงหรือซิกแซ็กเล็กน้อย เกลี้ยง ดอกออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ดอก เรียงสลับระนาบเดียวตามแกนกลางช่อดอก ดอกด้านข้างเป็นดอกเพศผู้ ดอกกลางเป็นดอกเพศเมีย ดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๖ มม. ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแฉกแหลม กลีบดอก ๓ กลีบ เรียงจดกัน รูปสามเหลี่ยม ยาว ๔-๖ มม. เกสรเพศผู้ ๙ เกสร ดอกเพศเมียยาวประมาณ ๓ มม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายเรียวแหลม ขอบมีขนครุยประปราย กลีบดอก ๓ กลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. ขอบมีขนครุยประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง เมื่ออ่อนรูปกระสวยอาจโค้ง เมื่อแก่รูปทรงรีแคบ กว้าง ๓.๕-๕ มม. ยาว ๑.๓-๒ ซม. สุกสีแดง มี ๑ เมล็ด เนื้อเมล็ดมีรอยย่น

 เจแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงใกล้ระดับทะเลออกดอกและเป็นผลไม่แน่นอน ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เจแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pinanga subintegra Ridl. var. intermedia Furtado ex C. K. Lim
ชื่อสกุล
Pinanga
คำระบุชนิด
subintegra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. intermedia
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Furtado ex C. K. Lim
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ชื่ออื่น ๆ
หมากเจแดง (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย