โคลงเคลงผลแห้ง

Melastoma pellegrinianum (H. Boissieu) Karst. Mey.

ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกมีม่วงอมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก รูปคนโท เมล็ดรูปก้นหอย มีจำนวนมาก

โคลงเคลงผลแห้งเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๑.๕(-๒.๕) ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลแนบชิดตามผิว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๘-๑๐(-๑๒) ซม. ปลายแหลม โคนแหลมหรือค่อนข้างแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน มีขนแข็งเอนเส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ ๘ มม. ด้านนอกมีขนอุยฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๕-๗ มม. มีขนแข็งสั้นแนบชิดประปราย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันและติดกับฐานดอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก ยาว ๕-๗ มม. กลีบดอกสีม่วงอมชมพู มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ยาว ๑-๑.๔ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร สีม่วงหรือสีนํ้าเงินเข้ม เรียงเป็น ๒ วง มีรูปร่าง ๒ แบบ อับเรณูของเกสรวงนอกยาวประมาณ ๙ มม. แกนอับเรณูด้านล่างยื่น ยาว ๐.๘-๑ ซม. อับเรณูของเกสรวงในยาวประมาณ ๘ มม. แกนอับเรณูด้านล่างไม่ยื่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ส่วนบนของรังไข่มีขนแข็ง มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมีย เป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปคนโท ยาว ๖-๘ มม. เมล็ดรูปก้นหอย มีจำนวนมาก

 โคลงเคลงผลแห้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นบนลานหินหรือหน้าผาชายป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบ อาจพบบ้างบนดินทราย


ตามที่โล่งที่มีไม้เล็ก ๆ ขึ้นหนาแน่น หรือในทุ่งหญ้า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โคลงเคลงผลแห้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Melastoma pellegrinianum (H. Boissieu) Karst. Mey.
ชื่อสกุล
Melastoma
คำระบุชนิด
pellegrinianum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Boissieu, Henri de
- Meyer, Karsten
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Boissieu, Henri de (1871-1912)
- Meyer, Karsten (fl. 2001)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางชุมศรี ชัยอนันต์