เชียดตัวผู้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อน มีช่องอากาศทั่วไป เปลือกในสีน้ำตาลเข้ม กิ่งอ่อนมีขนสีนวล กิ่งแก่เกลี้ยงและออกสีดำ กระพี้สีเหลือง แก่นสีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียว ด้านล่างมีขนและเป็นคราบสีขาวเส้นโคนใบ ๓ เส้น ไปสุดที่ปลายหรือเกือบถึงปลายใบ มีเส้นแขนงค่อนไปทางปลายใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสีเหลืองประปราย
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๗ ซม. มีขนสีเหลืองทั่วไป ดอกสีเขียวอ่อนอมเหลือง กลีบรวม ๖ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๔-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม มีขนนุ่มสีออกเหลืองอ่อนทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๙ เกสร เรียงเป็น ๓ วง วงนอกกับวงกลางอับเรณูหันเข้าหารังไข่ วงในสุดอับเรณูหันออกจากรังไข่ อับเรณูมี ๔ ช่อง มีลิ้นเปิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มีเยื่อหุ้ม โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ เมล็ดรูปคล้ายผลมี ๑ เมล็ด
เชียดตัวผู้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องตกแต่งและของใช้ที่อยู่ในร่ม.