เข็มอินเดีย

Pentas lanceolata (Forssk.) Deflers

ชื่ออื่น ๆ
เข็มชวา
ไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปรีหรือรูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบเป็นเส้น ๓-๕ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีหลายสี ผลแบบผลแห้งแตก มีเมล็ดมาก

เข็มอินเดียเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑ ม. ลำต้นตั้งหรือทอดกับพื้น กิ่งมักเป็นเหลี่ยม มีขน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายและโคนเรียวแหลม แผ่นใบด้านบนสีเขียว มีขนตามเส้นกลางใบ เส้นใบย่อย และขอบใบ ด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น นูนเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๖ ซม. หูใบระหว่างก้านใบมีลักษณะคล้ายเส้นด้าย ๓-๕ เส้น ยาว ๐.๒-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. มีดอกจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑.๒-๑.๕ ซม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๔-๖ มม. ติดทน กลีบดอกสีขาว ชมพู ชมพูเข้ม หรือแดงเข้ม ด้านนอกมีขน โคนติดกันเป็นหลอดยาว ๑.๕-๑.๘(-๔) ซม. ส่วนที่ค่อนไปทางปลายผายเป็นรูปกรวยแคบ ปลายแยกเป็น ๕(๖) แฉก รูปใบหอก รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. เมื่อดอกบานแฉกจะแผ่ตั้งฉากกับหลอดกลีบดอกทำให้มีลักษณะคล้ายรูปดาว ผิวด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง คอหลอดดอกมีขนยาวสีขาวหนาแน่น ช่วงล่างมีขนสั้น เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ที่คอหลอดดอก อับเรณูแคบยาวหรือรูปใบหอกแคบ ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก มีจานฐานดอกเห็นชัดเจน ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๓ มม. โผล่พ้นหลอดดอก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกรวยคว่ำหรือค่อนข้างกลม ยาว ๔-๖ มม. มีสัน ๕ สัน เมื่อแก่แตกออกเป็น ๒ ซีก มีเมล็ดมาก

 เข็มอินเดียเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของแอฟริกาเขตร้อน นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในประเทศไทยและในเขตร้อนทั่วโลก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มอินเดีย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pentas lanceolata (Forssk.) Deflers
ชื่อสกุล
Pentas
คำระบุชนิด
lanceolata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forsskål, Pehr (Peter)
- Deflers, M.A.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forsskål, Pehr (Peter) (1732-1763)
- Deflers, M.A. (1894)
ชื่ออื่น ๆ
เข็มชวา
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางทยา เจนจิตติกุล