ต้อยติ่ง

Ruellia tuberosa L.

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้ง เป็นสันสี่เหลี่ยม มีรากสะสมอาหารออกเป็นกระจุก รูปกระสวย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ออกตามซอกใบหรือปลายยอด ดอกสีม่วงอ่อนถึงสีม่วงน้ำเงิน พบบ้างที่มีสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย เมล็ดรูปคล้ายจานมี ๑๖-๒๐ เมล็ด มีขน

ต้อยติ่งเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้ง สูง ๑๐-๘๐ ซม. เป็นสันสี่เหลี่ยม มีรากสะสมอาหารออกเป็นกระจุก รูปกระสวย มีขนตามข้อเล็กน้อย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบค่อนข้างเรียบ แผ่นใบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ออกตามซอกใบหรือปลายยอด ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ ซม. ใบประดับรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานใบประดับย่อยรูปแถบแคบ ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึกเรียวยาว ๕ แฉก ยาวได้ถึง ๒ ซม. กลีบดอกสีม่วงอ่อนถึงสีม่วงน้ำเงิน พบบ้างที่มีสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๔-๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายมน เกลี้ยง กลีบดอกซ้อนเหลื่อมไปทางซ้ายในดอกตูม เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน คู่สั้นยาว ๔-๖ มม. คู่ยาวยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง มีขนที่โคน อับเรณูสีขาว มีขนทางด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๘-๑๐ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกแบน ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย ยาว ๒-๓ ซม. สีเขียวเข้ม เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดรูปคล้ายจาน ขนาดประมาณ ๒ มม. มี ๑๖-๒๐ เมล็ด มีขน ก้านเมล็ดโค้งงอแข็งและเหนียว จะยืดตัวออกและดีดให้เมล็ดกระจายเมื่อผลแตก

 ต้อยติ่งเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อน พบแพร่กระจายเป็นวัชพืชทั่วไปตามแหล่งธรรมชาติในเขตร้อน ออกดอกและเป็นผลตลอดปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ต้อยติ่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ruellia tuberosa L.
ชื่อสกุล
Ruellia
คำระบุชนิด
tuberosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวพนารัตน์ เจริญไชย