ครามเช้า

Indigofera Caudata Dunn

ชื่ออื่น ๆ
ช้าครามป่า (น่าน)
ไม้พุ่ม ลำต้นและกิ่งเป็นเหลี่ยม มีขนสีนํ้าตาลหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๙-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน หูใบรูปแถบแกมรูปใบหอกติดทน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกมีม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกลองแนว รูปคล้ายทรงกระบอก ส่วนปลายโค้งงอ เมล็ดรูปทรงสี่เหลี่ยมมี ๗-๑๕ เมล็ด

ครามเช้าเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. ลำต้นและกิ่งเป็นเหลี่ยม มีขนสีนํ้าตาลหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน แกนกลางยาว ๕-๙ ซม. ก้านใบยาว ๒-๓ ซม. ทั้งแกนกลางและก้านใบมีขอบด้านบนแผ่เป็นปีกแคบ ๆ และมีขนสีนํ้าตาลหนาแน่น หูใบรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๕-๘ มม. ติดทน ใบย่อย ๙-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๕-๗ ซม. ปลายแหลม อาจมีติ่งหนาม ยาว ๑-๑.๕ มม. โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีนํ้าตาลตามเส้นใบ และมีขนสีขาวตามแผ่นใบทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบย่อยยาว ๑-๓ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น หูใบย่อยรูปลิ่มแคบ ยาว ๑-๒ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ช่อตั้งยาว ๕-๑๘ ซม. ก้านช่อยาว ๑.๕-๓ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสีนํ้าตาลหนาแน่น ในแต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกสีม่วงอ่อน ใบประดับรูปเส้นด้าย ยาว ๓-๔ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดตื้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขน กลีบดอกกลีบกลางรูปรีแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ด้านนอกมีขน กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๔-๕ มม. กลีบคู่ล่างรูปขอบขนานกว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๗.๕-๘ มม. ด้านข้างใกล้โคนกลีบมีถุงเล็ก ๆ ข้างละ ๑ ถุง ทั้งกลีบคู่ข้างและกลีบคู่ล่างมีขนที่ด้านนอกและขอบกลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาว ๕.๕-๖.๕ มม. เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ส่วนอีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบแกมรูป ขอบขนานยาว ๕-๗ มม. มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๗-๑๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายทรงกระบอก ส่วนปลายโค้งงอ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๖ ซม. มีขนสีนํ้าตาลประปรายถึงหนาแน่น เมล็ดรูปทรงสี่เหลี่ยม กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. มี ๗-๑๕ เมล็ด

 ครามเช้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ครามเช้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Indigofera Caudata Dunn
ชื่อสกุล
Indigofera
คำระบุชนิด
Caudata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dunn, Stephen Troyte
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1868-1938)
ชื่ออื่น ๆ
ช้าครามป่า (น่าน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี