ขางเจอเป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย ขนาดใหญ่เหมือนไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนอุยนุ่มสีน้ำตาลแดงหรือขนสั้นนุ่มแบบกำมะหยี่ กิ่งแก่สีเทาแกมน้ำตาล เกือบเกลี้ยง มีช่องอากาศนูน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายแหลม มน หรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มกว้าง แหลมหรืออาจมน ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันบริเวณปลายใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนอุยสีน้ำตาลแดงประปรายถึงหนาแน่น หรือมีขนสั้นหนานุ่ม มีจุดโปร่งแสงขนาดเล็ก เห็นไม่ชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๔-๑.๕ ซม. มีขนอุยนุ่มสีน้ำตาลแดงหรือขนสั้นนุ่มแบบกำมะหยี่
ดอกแยกเพศต่างต้นหรือดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะ มี ๑-๓ ช่อ หรือช่อแยกแขนง ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ๒-๓ ช่อ ตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้ยาว ๔-๑๓ ซม. มักเป็นแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียยาว ๑-๗ ซม. ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีขาว ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๔-๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายแหลม ด้านนอกมีขนประปราย มีจุดโปร่งแสงกระจายทั่วไป ขอบมีขนครุย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายมน ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในมีปุ่มและมีต่อมสีดำขนาดเล็กดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ติดใกล้โคนแฉกกลีบดอกอับเรณูรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมน แตกตามยาวดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมันติดอยู่ใกล้กึ่งกลางแฉกกลีบดอก อับเรณูลดรูป กึ่งไร้ก้าน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบเกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนน้อย ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๑ มม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. ผิวย่นเมื่อเจริญเต็มที่เมล็ดมี ๑ เมล็ด
ขางเจอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผสมผลัดใบและป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียเนปาล ศรีลังกา เมียนมา ลาว และเวียดนาม.