เชียดเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๕ ม. เส้นรอบวง ๑-๑.๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ รูปทรงเจดีย์ต่ำเปลือกเรียบ สีน้ำตาลแกมเทา มีช่องอากาศทั่วไป เปลือกในสีชมพูเรื่อ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรืออยู่ในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบหรือมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างเกลี้ยงและมักมีคราบสีขาวเส้นโคนใบ ๓ เส้น แต่ละเส้นยาวไปสู่ปลายใบ ใบอ่อนสีชมพูถึงสีชมพูแกมม่วง ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อรวมยาวได้ถึง ๒๕ ซม. ทุกส่วนมีขนสีเทานุ่ม ช่อย่อยปลายสุดเป็นกระจุก กระจุกละ ๓ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. มีขนสั้นนุ่มสีเทา โคนก้านมีใบประดับรูปรี ยาวประมาณ ๒ มม. ร่วงง่าย ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน กลีบรวม ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมคล้ายเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบชั้นในรูปคล้ายชั้นนอก แต่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ทุกกลีบมีขนสีเหลืองอ่อนทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย เกสรเพศผู้ ๙ เกสร พบน้อยที่มี ๖ เกสร สีเหลือง เรียงรอบรังไข่เป็น ๓ วง พบน้อยที่มี ๒ วง วงนอกกับวงกลางอับเรณูหันเข้าหารังไข่ ส่วนวงในสุดอับเรณูหันออกโคนก้านชูอับเรณูมีต่อม อับเรณูมี ๔ ช่อง มีลิ้นเปิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายสุดแยกเป็นแฉกโค้ง ๓ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี แกมทรงรูปไข่ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. โคนผลมีกลีบรวมติดทนและขยายใหญ่ เมล็ดทรงรูปไข่ขนาดเล็กกว่าผลเล็กน้อย มี ๑ เมล็ด
เชียดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้นและตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างและเครื่องตกแต่งบ้าน เปลือกใช้ป่นทำธูป และใช้เป็นสมุนไพร.