เจ็ดช้างสารเขาเป็นไม้พุ่ม สูง ๒ ม. มีขนนุ่มหนาแน่นสีเหลืองอมน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามระนาบเดียวกัน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๗-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรืออาจพบมนได้บ้าง มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียว ค่อนข้างเกลี้ยง มักมีขนเฉพาะตามเส้นใบ ด้านล่างมีขนนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาล เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๑ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เรียงขนานค่อนข้างถี่ ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่างก้านใบยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. มีขนนุ่มหนาแน่นสีเหลืองอมน้ำตาล หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเรียว ยาว ๓-๖ มม. ติดทน มีขนนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาล
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ก้านช่อสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบประดับเรียวแคบ ดอกสีขาวไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันรูปคล้ายถ้วย ยาว ๑.๕-๓ มม. ส่วนบนผายออกเล็กน้อย ยาว ๑.๕-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกยาวมาก ๕-๗ แฉก รูปแถบหรือรูปใบหอกแคบ ยาว ๐.๙-๑.๔ ซม. เห็นเด่นชัด มีขนนุ่มหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๑-๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕-๗ แฉก รูปใบหอกยาว ๗-๘ มม. กว้างประมาณ ๒.๕ มม. มีขนนุ่มหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕-๗ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือยาวได้ถึง ๒.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๔ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕-๗ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็กมาก มี ๕ พู ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. มีขนนุ่ม ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทน มี ๕-๗ เมล็ด เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม
เจ็ดช้างสารเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบที่สูงจากระดับทะเลตั้งแต่ ๗๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และเวียดนาม.