โคลงเคลงตัวผู้ชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๓-๑.๕ ม. หรืออาจสูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนแข็ง ยาว ๑-๑.๕ มม. แนบชิดตามผิว ตามฃ้อมีขนแข็งกางออก ยาวได้ถึง ๕ มม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๑-๓.๕ ซม. ยาว ๔-๙.๓ ซม. ปลายแหลม โคนสอบหรือมน ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนแข็งเอนทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น มีขน ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือชอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับรูปใบหอกถึงรูปไข่กลับ ยาว ๒-๗ มม. ด้านนอกมีขนฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๓-๖ มม. มีขนแข็งตั้งตรงประปราย ยาว ๒-๓.๕ มม. และมีส่วนยื่นยาวที่มีขนแข็งคล้ายแปรงเป็นกะบังรอบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันกับขอบฐานดอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบถึงรูปแถบ ยาว ๓-๕ มม. กลีบดอกสีม่วง มี ๕ กลีบ ยาว ๖-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร รูปร่างต่างกันหรือเหมือนกัน สีม่วงเรียงเป็น ๒ วง ถ้าเกสรเพศผู้มีลักษณะเหมือนกัน วงนอกมีอับเรณูยาว ๔-๕ มม. ด้านล่างของแกนอับเรณูยาวประมาณ ๕ มม. หากเกสรเพศผู้ ๒ วง มีรูปร่างต่างกันเกสรวงนอกมีด้านล่างของแกนอับเรณูยื่น ยาว ๑-๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ปลายมีขนแข็ง มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้น ยาวใกล้เคียงกับเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. สุกสีนํ้าเงินเข้ม เมล็ดเล็กมีจำนวนมาก
โคลงเคลงตัวผู้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นในที่โล่ง ป่าดิบ ป่าผลัดใบหรือบริเวณริมลำธาร ที่สูงตั้งแต่ไกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ลาว และเวียดนามตอนใต้.