เช้าพัน

Boesenbergia petiolata Sirirugsa

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้น ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบที่อัดแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ ลิ้นใบแยกเป็น ๒ แฉก ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด อยู่ระหว่างซอกกาบใบที่ปลายลำต้นเทียม ดอกทยอยบานจากด้านบน สีเหลืองอ่อน มีประแดง ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงรี เมล็ดรูปทรงกระบอกแกมรูปใบหอก ขั้วเมล็ดมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

เช้าพันเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้น ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบที่อัดแน่น สูง ๔๐-๖๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๗-๑๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ พบบ้างที่โคนตัด เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๓-๘ ซม. ลิ้นใบแยกเป็น ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยมฐานกว้างหรือรูปขอบขนาน ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ขอบเป็นเยื่อปลายมน เกลี้ยง กาบหุ้มลำต้นด้านบนที่มีแผ่นใบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. กาบด้านล่างที่ไร้แผ่นใบยาว ๖-๑๒ ซม. เกลี้ยง มีจุดประสีแดง

 ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ยาวประมาณ ๘ ซม. อยู่ระหว่างซอกกาบใบที่ปลายลำต้นเทียม ดอกทยอยบานจากด้านบน มีใบประดับประมาณ ๑๒ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอก กว้างประมาณ ๘ มม.ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายแหลม แต่ละใบประดับ มีดอก ๑ ดอก ใบประดับย่อยม้วนเป็นหลอด เมื่อกางออกรูปคล้ายใบประดับแต่สั้นกว่าเล็กน้อย ดอกสีเหลืองอ่อน มีประแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒.๕-๓.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปสามเหลี่ยมกว้าง ยาว ๐.๕-๑.๕ มม. โคนหลอดด้านนอกมีขนสีแดง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๖ ซม. ด้านปลายกว้างกว่าโคนปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปรี กว้างประมาณ ๕ มม.


ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมนกลม งุ้มเข้า มีจุดประสีแดงประปราย เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่เป็นหมัน ๕ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นแผ่น มีลักษณะคล้ายกลีบดอก เรียกว่า กลีบปาก แยกเป็น ๓ แฉกใหญ่ แฉกกลางมีขนาดใหญ่สุด รูปไข่กลับถึงรูปครึ่งวงกลม กว้างและยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายกลีบคุ่มคล้ายถุง ไม่สมมาตร ขอบหยักมน ๓ หยัก กลางกลีบมีแถบจุดประสีแดงหนาแน่น แฉกข้างรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. อาจไม่สมมาตรกันทั้ง ๒ ด้าน ปลายมนกลม มีจุดประสีแดงประปราย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑ เกสร ยาวประมาณ ๕ มม. ก้านชูอับเรณูโผล่พ้นหลอดกลีบดอกประมาณ ๔ มม. โคนก้านติดด้านในหลอดกลีบดอก อับเรณูมี ๒ พู ติดที่ฐาน ปลายอับเรณูมีรยางค์เป็นแผ่นบางปลายแยกเป็น ๒ แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรี ยาว ๓-๔ มม. มี ๑ ช่อง ออวุลประมาณ ๖ เม็ด ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดง ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ลดรูปมี ๒ ก้าน รูปแถบ ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายแหลมยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายถ้วยตื้น ขอบหยักและมีขน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนและปลายเรียว มีขนสีแดงประปราย เมล็ดประมาณ ๔ เมล็ด รูปทรงกระบอกแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๖.๕ มม. มีขนสั้นทั่วไป ขั้วเมล็ดมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

 เช้าพันเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลาง พบตามซอกหินหรือพื้นล่างในป่าดิบแล้งผสมป่าไผ่ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เช้าพัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Boesenbergia petiolata Sirirugsa
ชื่อสกุล
Boesenbergia
คำระบุชนิด
petiolata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Sirirugsa, Puangpen (Phuangpen)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1938-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ