เจ็ดช้างสารชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เปลือกสีเขียวหรือสีน้ำตาล มีขนหนาแน่น เมื่อแก่เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีขน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลมยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือมนกลม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวด้านล่างสีจางกว่า มีขนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น เป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่างก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน หูใบระหว่างก้านใบติดทนรูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายเรียวแหลมคล้ายเส้นด้ายหรือเป็นรยางค์ ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่นออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่ง ช่อห้อยลง กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ก้านช่อยาว ๑-๒ ซม. มีขน มีช่อแขนงหลัก ๒-๓ แขนง ออกเป็นคู่ตรงข้ามหรือแยกสาม แกนช่อ ก้านช่อแขนง ก้านดอก และกลีบเลี้ยงมีขนหนาแน่นใบประดับ ๓ ใบ รูปรีหรือรูปแถบ กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน แต่ละช่อแขนงย่อยเป็นช่อกระจุก มี ๓ ดอก มีใบประดับรองรับช่อแขนงย่อย ดอกที่อยู่ด้านข้างทั้ง ๒ ดอก มีก้านดอกยาว ๒-๓ มม. และมีใบประดับย่อยรูปเส้นด้ายหรือรูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายเรียวแหลม ยาว ๑-๑.๕ มม. มีขนหนาแน่น ส่วนดอกที่อยู่ตรงกลางมีก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. หรือไร้ก้านและไม่มีใบประดับย่อย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ยาว ๑-๒ มม. มีขนหนาแน่นกลีบดอกสีขาวอมเขียวหรือสีนวล โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๗-๙ มม. ส่วนบนใกล้คอหลอดด้านในมีขนหนาแน่น ด้านนอกมีขนกระจายทั่วไป ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๕-๗ มม. ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๔-๕ มม. บิดเมื่อดอกบาน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรีหรือคล้ายถ้วย ยาว ๑-๑.๕ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียยาวรวมกัน ๐.๘-๑.๑ ซม. ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าหลอดดอก มีขนประปรายตั้งแต่กลางก้านถึงปลายก้าน ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู รูปกระสวย
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๖-๙ มม. ยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทนหรือมีรอยแผลที่กลีบเลี้ยงหลุดร่วงมี ๑ เมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม.
เจ็ดช้างสารชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามที่โล่ง บนเขาหินปูนริมลำธาร ในป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ และป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๗๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม