โคลงเคลงญวนเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนแข็งสีน้ำตาลอมแดงหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปใบหอก กว้าง ๑.๓-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๙ ซม. ปลายมนและปลายสุดเรียวแหลมสั้น โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบมีขนอุยทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๕ เส้น ก้านใบยาว ๐.๖-๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี ๓-๕ ดอก หรือเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ใบประดับยาวประมาณ ๕ มม. มีขนอุยด้านนอก ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๐.๙-๑.๓ ซม. ภายนอกมีขนแข็ง ปลายมีขนยาวเป็นกระจุกขนรูปดาวหนาแน่น กลีบเลี้ยงสีม่วง เมื่อแห้งเป็นสีแดง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขนสั้นทางด้านนอก ปลายหลอดกลีบเลี้ยงแยก เป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๗ มม. มีขน กลีบดอกสีม่วง มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ยาว ๑.๕-๒ ซม. ขอบมีขนละเอียด เกสรเพศผู้มี ๑๐ เกสร พบน้อยทื่มี ๘ เกสร เรียงเป็น ๒ วง รูปร่างต่างกันอับเรณูของเกสรวงนอกโค้งขึ้นเล็กน้อย ยาวประมาณ ๑ ซม. สีม่วง แกนอับเรณูใต้อับเรณูยื่นยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูของเกสรวงในตรง ยาวประมาณ ๑ ซม. สีเหลืองแกนอับเรณูใต้อับเรณูไม่ยื่น รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ส่วนบนมีขนแข็งสีน้ำตาลอ่อนหรือสีนํ้าตาล มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีแดงสั้นกว่าเกสรเพศผู้วงนอกเล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็กสีนํ้าตาล
ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม ปลายตัด ยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. มีขนชนิดปลายเป็นกระจุกขนรูปดาวเมล็ดรูปก้นหอย
โคลงเคลงญวนมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นในที่ขึ้นแฉะตามป่าละเมาะ และพบบ้างตามชายป่าดิบแล้ง หรือป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน.