เจ็ดช้างสารชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. กิ่งและลำต้นอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลแดง มีช่องอากาศทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมโคนรูปลิ่มหรือมนกลม มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นแผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง มีขนตามเส้นใบ ด้านล่างมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยเรียงถี่และค่อนข้างขนาน ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๓ มม. มีขน หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอกหรือรูปสามเหลี่ยมปลายเรียวแหลม กว้าง ๓-๕ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ก้านช่อสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบประดับและใบประดับย่อยรูปใบหอก เรียวเล็ก ดอกสีขาว ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔-๗ แฉก รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ด้านในมีขนหนาแน่นกว่าด้านนอก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูรูปเรียวแคบ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียมี ๕ พู
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล มี ๔-๕ เมล็ด เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม
เจ็ดช้างสารชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออก พบตามที่โล่งในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๕๐ ม.