จูดเหลี่ยมเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า มีไหลเรียวยาว ลำต้นเหนือดินขึ้นรวมกันเป็นกระจุก แต่ละต้นเป็นเหลี่ยม ๔-๕ เหลี่ยม สีเขียว กว้าง ๑-๒.๕ มม. สูง ๓๐-๙๐ ซม. ปลายเรียวแหลม
ใบลดรูปเป็นกาบใบ สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีแดงหรือสีน้ำตาลแกมม่วง เรียงเวียน ลักษณะเป็นปลอกหุ้มโคนต้น บางคล้ายกระดาษ ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายมนมีติ่งหนามสั้น
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีช่อดอกย่อยช่อเดียวออกตามปลายลำต้น รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานค่อนข้างเบี้ยว กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ช่อดอกย่อยประกอบด้วยกาบจำนวนมาก เรียงเวียนซ้อนเหลื่อมรอบแกนกลาง บางเป็นเยื่อ สีน้ำตาล รูปขอบขนานถึงรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๖ มม. ปลายมนสันกลางสีเขียว ขอบใสและแคบ แต่ละกาบมีดอก ๑ ดอก กลีบรวม ๖ กลีบ ลดรูปเป็นเส้น พบน้อยที่มี ๘ เส้น สีน้ำตาล ปลายขนเป็นหนามละเอียด เกสรเพศผู้ ๒-๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูยาวประมาณ ๑.๓ มม. สีเหลือง แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก โคนก้านยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย ติดทน
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแกมเขียวหรือสีน้ำตาล ทรงรูปไข่กลับ แบนด้านข้างตรงกลางนูนเป็นสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายมนกลม ผิวค่อนข้างเรียบ เมล็ดรูปคล้ายผล
จูดเหลี่ยมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามบริเวณที่โล่ง มีแสงแดดจัดที่ชื้นแฉะ แอ่งน้ำ และหนองน้ำตื้น ๆ ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๒,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น และทางตะวันออกของออสเตรเลีย.