กอมก้อห้วยเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเตี้ย สูง ๐.๕-๒ ม. มีขนทั่วไป ลำต้นและกิ่งเป็นเหลี่ยมเห็นได้ชัดเจน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๔.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมมากกว่าโคน ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักมน แผ่นใบทั้ง ๒ ด้านมีขนหนาแน่น ก้านใบยาว ๑.๕-๔ ซม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกที่ปลายกิ่งหรือยอด ประกอบด้วยดอกรูปปากเปิดขนาดเล็กจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นวงรอบแกนเป็นชั้น ๆ ก้านดอกสั้น ใบประดับเรียว ยาว ๓-๖ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๕-๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคล้ายระฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ปลายแหลม ความยาวใกล้เคียงกับส่วนโคน กลีบมีขนทั่วไปและมีเส้นตามยาวกลีบ ๑๐ เส้น กลีบเลี้ยงนี้จะอยู่จนเป็นผลและมีขนาดใหญ่ขึ้น กลีบดอกยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. โคนติดกันเป็นหลอดยาว ๖-๗ มม. ปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนสีขาว ขาวอมเขียว หรือขาวอมชมพูรูปไข่ มีแฉกเดียว ยาว ๔-๗ มม. ปลายแฉกมนและเรียบส่วนล่างสีขาวอมชมพู ชมพูม่วง หรือม่วงคราม ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. ปลายหยักเว้าเป็น ๓ แฉก แฉกกลางขนาดใหญ่กว่าแฉกข้างและปลายเว้าเล็กน้อย ผิวเรียบ ยกเว้นตอนกลางกลีบด้านในมีขนยาวสีขาวใส เกสรเพศผู้ ๒ คู่ ความยาวของ ก้านชูอับเรณูไม่เท่ากัน สั้น ๑ คู่ ยาว ๑ คู่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ หู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแห้งแข็ง ขนาดเล็ก มี ๔ เมล็ด สีดำ รูปไข่หรือรี ผิวเรียบ
กอมก้อห้วยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบริเวณที่โล่งแจ้งริมทาง ชายน้ำ ชายป่าเชิงเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง บนพื้นระดับน้ำทะเลจนถึงสูง ประมาณ ๑,๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในอินโดจีนใช้ใบแก้อาการเจ็บในช่องท้อง อินโดนีเซีย ใช้ใบแก้นิ่ว (Perry and Metzger, 1980) ฟิลิปปินส์ใช้ใบบำบัดอาการปวดข้อและใช้เป็นยาเจริญอาหาร ทั้งต้นใช้แก้ไข้และโรคที่เกี่ยวกับเยื่อบุกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ (Perry and Metzger, 1980; Burkill, 1966) อินเดีย ศรีลังกา และจีนใช้เป็นยาขับลม ยาบำรุง และยาสมาน (Burkill, 1966) ไต้หวันใช้แก้ไข้ ขับปัสสาวะหรือแก้อาการผิดปรกติทางระบบปัสสาวะและอาการบวม (Perry and Metzger, 1980)