กอมก้อลอดขอนเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ ทอดไปตามพื้นดิน หิน หรือขอนไม้ มีขนทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ขนาดของใบไม่เท่ากัน ใบที่เล็กมากยาว ๑-๒ มม. ร่วงง่าย ใบปรกติเรียงสลับกัน ค่อนข้างอวบน้ำ รูปใบหอก รูปรี หรือรูปรียาว กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๓-๑๑ ซม. ปลายแหลม โคนเฉียงและเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักซี่ฟัน เส้นโคนใบ ๓ เส้น แผ่นใบด้านล่างมีขน ด้านบนมีผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตภายในเซลล์ของผิวใบ (cystolith) เมื่อแห้งเป็นเส้นนูนคล้ายขนกระจายอยู่ทั่วไปก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. มีหูใบเป็นแผ่นบาง ๆ รูปไข่ปลายเรียวแหลม สีน้ำตาลแดง ยาว ๑.๕-๑ ซม.
ดอกแยกเพศ ขนาดเล็กมาก ออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว ๕-๑๐ ซม. มีขน กลีบดอก ๔ กลีบ สีขาวอมเขียว เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน
กอมก้อลอดขอนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าดิบตามที่ร่มชื้นหรือใกล้น้ำลำธาร ในต่างประเทศพบที่อินเดียและภูมิภาคอินโดจีน
ในมาเลเซียใช้เป็นยาพอกเมื่อมีอาการบวม เป็นฝี และปวดท้อง (Perry and Metzger, 1980) ยาต้มใช้ดื่มแก้โรค ปวดข้อ (Burkill, 1935).