โคลงเคลงเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ (-๖) ม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีเกล็ดเล็กสีฟางแนบชิดตามผิวหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๑.๗-๕ ซม. ยาว ๔-๑๔ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลมหรือมน ขอบเรียบ เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น แผ่นใบมีขนเอนทั่ง ๒ ด้าน เห็นชัดทางด้านล่างโดยเฉพาะตามเส้นโคนใบ ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี ๓-๗ ดอก ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับรูปรี เห็นชัดอาจยาวได้ถึง ๒ ซม. ด้านนอกโดยเฉพาะที่เส้นกลางของใบประดับมีเกล็ดสีค่อนข้างขาวหรือสีแดงเรื่อแนบชิดตามผิวหนาแน่น ก้านดอกยาว ๖-๗ มม. ฐานดอกรูปถ้วยคล้ายระฆัง ยาว ๕-๙ มม. ภายนอกมีเกล็ด ยาว ๑-๓ มม. แนบชิดตามผิวหนาแน่น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันและติดกับขอบฐานดอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกหรือค่อนข้างคล้ายรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. กลีบดอกสีม่วง มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕(-๔) ซม. ขอบกลีบมีขนครุย ปลายตัดหรือมนกลม มีกระจุกขนยาวที่ปลาย เกสรเพศผู้ (๘-)๑๐(-๑๒) เกสร เรียงเป็น ๒ วง รูปร่างต่างกันอับเรณูของเกสรวงนอก ยาว ๐.๗-๐.๙(-๑.๔) ซม. สีม่วงอมฟ้า แกนอับเรณูด้านล่างยื่น ยาว ๐.๔-๐.๘(-๑.๑) ซม. อับเรณูของเกสรวงใน ยาว ๐.๕-๐.๖(-๑.๑) ซม. สีเหลือง
ผลแบบผลแห้งแตก ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. เนื้อนุ่มแตกไม่เป็นระเบียบ สุกสีม่วงเข้ม กินได้แต่ทำให้ปากเป็นสีดำ เมล็ดเล็ก สีดำ
โคลงเคลงมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบมากตามที่โล่ง และทุ่งหญ้าพบบ้างในป่าดิบและป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับ นํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลียตอนเหนือ.