เต้ามดเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. เนื้อไม้อ่อน แตกกิ่งก้านสั้น เปลือกสีน้ำตาล มีขนสั้นหนาแน่น มีรอยแผลใบขนาดใหญ่เห็นชัด
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแน่นใกล้ปลายกิ่ง ใบด้านล่างของกิ่งร่วงเกือบหมด รูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจกลับ กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๗-๑๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนหรือรูปหัวใจ ขอบจักเบี้ยว แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นเด่นชัด ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีขาวคล้ายมีนวล ก้านใบยาวได้ถึง ๑๕ ซม. หูใบรูปใบหอกถึงรูปรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. บางคล้ายกระดาษ ร่วงง่าย พบในช่วงออกดอกหรือแตกใบอ่อน
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงแบบแยกเป็นคู่ ๓-๗ ครั้ง ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกกว้างและยาว ๓-๗.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒.๕-๖.๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุกเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. ใบประดับบาง ใบประดับย่อยของดอกเพศผู้รูปไข่กลับแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. ดอกสีแดงหรือสีแดงอมส้ม ดอกเพศผู้มีก้านสั้น รูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. กลีบรวมโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่กว้าง ปลายแหลม รังไข่ที่เป็นหมัน
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปค่อนข้างกลม แบนข้าง กว้างและยาว ๑.๓-๑.๕ มม. มีกลีบรวมติดทน เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
เต้ามดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามหน้าผาหินและป่าดิบเขาโล่ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๘๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เนปาล ภูฏาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา จีนตอนใต้ เวียดนาม และกัมพูชา.