กอมก้อยลอดขอนเป็นไม้ล้มลุก ทอดนอนบนพื้นดินลำต้นคดไปมา มีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวบนพื้นดิน ค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๙-๒.๖ ซม. ยาว ๒.๑-๓.๖ ซม. ปลายมน โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนสาก ด้านล่างมีขนหยาบแข็ง ใบอ่อนมีขนหนาแน่น เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ก้านใบสั้นมาก
ดอกเดี่ยว สีน้ำตาลอมแดง ออกตามง่ามใบ แต่เนื่องจากก้านใบสั้นมากจึงดูคล้ายออกจากโคนใบ ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขน ไม่มีใบประดับ วงกลีบรวมติดกันยาว ๓.๕-๕ ซม. โคนเป็นกระเปาะกลมหรือรูปไข่ กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๔-๘ มม. เหนือกระเปาะเป็นหลอด กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายยื่นเป็นรูปแถบ ปลายมน กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดอยู่รอบเส้าเกสรที่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. สั้นกว่ายอดเกสรเพศเมียรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๕-๙ มม. มีขนแน่น มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๖ แฉก โค้งเข้าเล็กน้อย
ผลแบบผลแห้งแตก รูปรีกว้างหรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านผลยาว ๑-๑.๕ ซม. มีสันตามยาว ๖ สัน ผลแก่แตกออกคล้ายกระเช้า เมล็ดรูปไข่กลับแกมรูปสามเหลี่ยม สีน้ำตาล ไม่มีปีก กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. ด้านหนึ่งมีตุ่มกระจายทั่วไป อีกด้านหนึ่งเรียบ
กอมก้อยลอยขอนมีการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ขึ้นตามดินทรายที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา.