เตาปูยู้เป็นไม้ล้มลุกหรือกึ่งล้มลุก โคนต้นแข็งและมักแตกกิ่งมาก เปลือกสีออกม่วง มีหนามเล็ก ๆ ที่เกิดจากผิว รูปกรวยปลายแหลม ตรงและแข็ง มีขนรูปดาวมีก้านประปราย สีน้ำตาลอมเหลืองหรืออมเทา
ใบเดี่ยว มักเกิดเป็นคู่ที่จุดเดียวกัน เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๔-๗.๕ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือหดสั้นเกือบตัด ขอบจักหรือเว้าเป็นคลื่นหยักมนหรือแหลม แผ่นใบบางคล้ายเยื่อ ด้านล่างมีขนรูปดาวชนิดแขนงไม่เท่ากัน ยาวและหนาแน่นกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น ก้านใบยาว ๑-๒.๗ ซม. ตามเส้นกลางใบและก้านใบมีหนามรูปกรวยปลายแหลมประปราย ตรงและแข็ง ยาวได้ถึง ๑ ซม.
ดอกเดี่ยวหรือบางครั้งอาจพบเป็นคู่ ออกเหนือซอกใบ ก้านดอกยาว ๐.๕-๓ ซม. มักโค้งหลังดอกบาน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบ มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มักมีหนามแหลมที่เกิดจากผิวปะปน กลีบดอกสีม่วง รูปวงล้อ ยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกมีรอยพับตามแนวยาวของกลีบ ปลายแหลม ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูสีเหลืองเข้ม รูปแถบ ยาวประมาณ ๖ มม. แตกเป็นช่องที่ปลาย ๒ ช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนต่อมสั้นประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. มีกลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน เมล็ดมีจำนวนมาก
เตาปูยู้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามที่โล่งหรือมีร่มเงาน้อย พื้นที่เกษตรกรรม และชายป่า ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๖๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.