ชุมเห็ดเล็กเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูง ๐.๖-๑.๕ ม. ใบมีกลิ่นเหม็นเขียวมาก
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับแกนกลางยาว ๘-๑๒ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๓-๔ ซม. มีต่อมรูปไข่ ๑ ต่อม ขนาดใหญ่ สีม่วงเข้ม อยู่ด้านบนใกล้โคนก้านใบ มีใบย่อย ๖-๑๐ ใบ เรียงตรงข้ามคู่ล่างเล็กกว่าคู่ถัดไปตามลำดับ ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ อาจเบี้ยวเล็กน้อย กว้าง ๑.๓-๓.๘ ซม. ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลม
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านช่อสั้น มี ๒-๔ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับรูปไข่ ปลายแหลมหรือเรียวแหลม ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีขาวอมชมพูขนาดไม่เท่ากัน กลีบนอก ๑ กลีบ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. กลีบใน ๔ กลีบ รูปไข่ ขนาดใหญ่กว่ากลีบนอก กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง มีลายเส้นสีม่วง ขนาดไม่เท่ากัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายมน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. กลีบนอก ๒ กลีบ ใหญ่กว่ากลีบใน ๓ กลีบ ก้านกลีบดอกสั้น เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ขนาดไม่เท่ากันแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๓ เกสร ขนาดใหญ่ก้านชูอับเรณูยาว ๕-๖ มม. อับเรณูยาว ๕-๗ มม. มีรูเปิดที่ปลาย กลุ่มที่ ๒ มี ๔ เกสร ขนาดกลางก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓ มม. อับเรณูยาว ๕-๖ มม.มีรูเปิดที่ปลายเช่นกัน กลุ่มที่ ๓ ขนาดเล็ก มี ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ มม. และมีอับเรณูเล็กหรือเป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เรียวยาวและโค้งงอมีขนนุ่ม มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเล็กต่อมที่ก้านใบ
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนโค้ง สีน้ำตาล ขอบสีอ่อนกว่า กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑๐-๑๓ ซม. คอดบ้างเล็กน้อย ก้านยาวประมาณ ๑.๓ ซม. เมล็ดแบน สีเขียวมะกอกเข้มทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. แข็ง เรียบ เป็นมัน มี ๒๐-๓๐ เมล็ด
ชุมเห็ดเล็กเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นในที่รกร้างทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. เป็นวัชพืชในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วไป ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี
ประโยชน์ ทั้งต้นมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญ เป็นไกลโคไซด์ประเภทแอนทราควิโนน เช่น เรอิน คริโซฟานอล สารเคมีเหล่านี่จะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ จึงนำมาใช้เป็นยาถ่าย นอกจากนี่ยังใช้แก้ไข้ เมล็ด ราก และใบใช้เป็นยาภายนอก ทาแก้กลากเกลื้อน เมล็ดมีแทนนิน มิวซิเลจ (mucilage) และไขมัน ใช้ชงดื่มแทนชาได้.