จูดทุ่งแสลงหลวง

Eleocharis macrorrhiza T. Koyama

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเหนือดินขึ้นรวมเป็นกระจุก แต่ละต้นรูปทรงกระบอกใบลดรูปเป็นกาบใบ สีขาวซีดจนถึงสีเหลืองอ่อนคล้ายสีฟางข้าว เรียงเวียน ลักษณะเป็นปลอกหุ้มโคนต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีช่อดอกย่อยช่อเดียวออกตามปลายลำต้น ช่อดอกย่อยประกอบด้วยกาบ ๖-๑๒ กาบ สีเหลืองอ่อน รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ แต่ละกาบมีดอก ๑ ดอก กลีบรวมลดรูปเป็นเส้น ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็กสีเหลืองหรือสีเหลืองแกมเขียว ทรงรูปไข่กลับ แบนด้านข้าง ตรงกลางนูน เมล็ดรูปคล้ายผล

จูดทุ่งแสลงหลวงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ปลายเรียวเล็กลำต้นเหนือดินขึ้นรวมเป็นกระจุก แต่ละต้นรูปทรงกระบอก สีเขียว กว้าง ๑-๒ มม. สูง ๑๗-๓๐ ซม. ภายในต้นมีผนังกั้นตามขวาง ลักษณะเป็นเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำอัดแน่น ลำต้นแข็ง เมื่อแห้งจะไม่แบน

 ใบลดรูปเป็นกาบใบ สีขาวซีดจนถึงสีเหลืองอ่อนคล้ายสีฟางข้าว เรียงเวียน ลักษณะเป็นปลอกหุ้มโคนต้น บางคล้ายกระดาษ ยาว ๓-๓๐ ซม. ปลายแหลม

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีช่อดอกย่อยช่อเดียวออกตามปลายลำต้น รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๑.๒-๒ ซม. ปลายแหลม ช่อดอกย่อยประกอบด้วยกาบ ๖-๑๒ กาบ เรียงเวียนซ้อนเหลื่อมรอบแกนกลาง บางเป็นเยื่อ สีเหลืองอ่อน รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๒-๓ มม. ยาว ๖-๗.๒ มม. ปลายแหลม ไม่มีสัน ขอบบางและแห้ง แต่ละกาบมีดอก ๑ ดอก กลีบรวม ๖-๗ กลีบ ลดรูปเป็นเส้นสีน้ำตาล ปลายมีขนบางรูปตะขอ เกสรเพศผู้ ๒-๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูยาวประมาณ ๑.๓ มม. สีเหลือง แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยติดทน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒-๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก สีเหลืองหรือเหลืองแกมเขียว ทรงรูปไข่กลับ แบนด้านข้างตรงกลางนูน กว้าง ๑.๓-๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ผิวเรียบเป็นมัน เมล็ดรูปคล้ายผล

 จูดทุ่งแสลงหลวงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามที่โล่ง ที่ชื้นแฉะ แอ่งน้ำ และหนองน้ำตื้น ๆ ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จูดทุ่งแสลงหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Eleocharis macrorrhiza T. Koyama
ชื่อสกุล
Eleocharis
คำระบุชนิด
macrorrhiza
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Koyama, Tetsuo Michael
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1933- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววีรญา บุญเตี้ย