ชุมเห็ดเลเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. เปลือกเรียบและมีสัน ไม่มีขนปกคลุม ด้านนอกสีน้ำตาลแดง ด้านในสีเหลืองอ่อน กระพี้สีเหลืองส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีต่อมเหนียวรูปคล้ายจาน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายมนและมีติ่งแหลมสั้น ๆ โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง หรือมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๒๕ เส้น ปลายเส้นอาจโค้งจดกันใกล้ขอบใบหรือไม่จดกัน เส้นใบย่อยแบบร่างแหหนาแน่น เห็นไม่ชัด ไม่มีตุ่มใบ ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบและที่ยอด ยาวได้ถึง ๓.๕ ซม. มีหลายช่ออยู่รวมกันเกลี้ยง ก้านดอกยาว ๓-๗ มม. เมื่อเป็นผลยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ดอกสีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยง ๕-๗ กลีบรูปรี กว้าง ๑.๕-๑.๘ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกอาจพบขนอยู่เป็นคู่ ขอบมีขนครุยห่าง ๆ มีมากที่ปลายกลีบ เมื่อกลีบเลี้ยงร่วงหลุดไปจะเกิดรอยแผลที่ใต้ผลชัดเจน ไม่มีกลีบดอกเกสรเพศผู้ ๕-๗ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ติดกับอับเรณูที่ฐาน อับเรณูยาวประมาณ ๑.๘ มม. ปลายมีขนครุย ไม่มีก้านรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีแบน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ มม. เกลี้ยง มีต่อมเหนียวรูปคล้ายจานหนาแน่น รังไข่มี ๒ ช่อง พบน้อยที่มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๓ มม. มีต่อมประปรายร่วงง่าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูตื้น
ผลแบบผลแห้งแตกตามยาว ค่อนข้างแบนรูปคล้ายหัวใจแกมรูปไต พอง กว้าง ๑.๑-๑.๖ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. สีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาลอ่อน มีต่อมประปรายหรือเกลี้ยง มีปีกบางคล้ายเยื่อ กว้าง ๑-๔ มม. ปีกที่ปลายผลเว้าลึก เมล็ดรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ไม่มีเยื่อหุ้ม มี ๒-๔ เมล็ด
ชุมเห็ดเลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามชายฝั่งทะเลหรือบนเขาหินปูน ป่าชายหาด ทุ่งหญ้า และสวนมะพร้าว ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน
ประโยชน์ เนื้อไม้แข็ง เหนียว ทนทาน ใช้ทำด้ามเครื่องมือ ทำฟืน ไม้เท้า