โคคลาน ๑

Anamirta cocculus (L.) Wight et Arn.

ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นเครือ, แม่น้ำนอง, ว่านนางล้อม (เหนือ); จุ๊มร่วมพนม (ชอง-จันทบุรี); เถาขะโนม, เถาพนม, ลุมปรี, อม
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง มีตุ่มใบที่มีกลุ่มขนตามซอกระหว่างเส้นโคนใบกับเส้นแขนงย่อย ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามลำต้นและที่ซอกใบ ช่อย่อยแบบ ช่อกระจะ ดอกสีขาว สีเหลือง สีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม กึ่งรูปไต สีขาวถึงสีม่วง เมล็ดรูปคล้ายไตถึงเกือบกลม

โคคลานชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ เถาอ่อน ก้านใบเกลี้ยงและเป็นร่อง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๕-๒๔ ซม. ยาว ๗-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจถึงมนกว้างหรือตัด ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นโคนใบ ๓-๕ (-๗) เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบนูนเห็นชัดทางด้านล่าง มีตุ่มใบที่มีกลุ่มขนตามซอกระหว่างเส้นโคนใบกับเส้นแขนงย่อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๖-๑๘(-๒๖) ซม. โคนและปลายป่อง ส่วนโคนเป็นข้องอ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามลำต้นและที่ซอกใบ ยาว ๑๖-๔๐ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ยาว ๒-๕ ซม. เกลี้ยง ดอกสีขาว สีเหลือง สีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง ใบประดับย่อย ๒ ใบ แบนชิดกลีบรวม ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบรวม ๖ กลีบ รูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒.๕-๓ มม. เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงในใหญ่กว่ากลีบวงนอก เกลี้ยงหรืออาจมีปุ่มเล็ก ๆ ที่ขอบบ้าง เกสรเพศผู้ ๓๐-๓๕ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแท่งสั้น ๆ อับเรณูแตกตามขวาง ชิดกันเป็นก้อนกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ มม. ดอกเพศเมียมีกลีบรวมเหมือนดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๖ เกสร รูปคล้ายกระบอง เล็กมาก เกสรเพศเมียมีก้านชู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓(-๕) รังไข่ รูปรีโค้ง ยาว ๑.๕-๒ มม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียรูปค่อนข้างกลม โค้งลง

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง สีขาวถึงสีม่วง รูปค่อนข้างกลมกึ่งรูปไต ยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยง ช่อผลเกลี้ยง ช่อย่อยยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านผลยาว ๐.๘-๒ ซม. มีก้านเกสรเพศเมียยาว (๐.๓-)๐.๖-๑.๖ มม. มีรอยแผลของก้านเกสรเพศเมียอยู่ค่อนมาทางด้านล่าง เมล็ดรูปคล้ายไตถึงเกือบกลม

 โคคลานชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคตะวันออก พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ ที่ระดับตํ่า ตามริมนํ้าริมลำธาร ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนิเชีย และมาเลเซีย

 ประโยชน์ ลำต้นและรากมีสารประเภทแอลดาลอยด์ เช่น berberine, magnoflorine, palmatine, columbamine เมล็ดมีสาร sesquiterpene ชื่อ picrotoxin ซึ่งเป็นสารพิษ ใช้ฆ่าเหาและเบื่อปลา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โคคลาน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Anamirta cocculus (L.) Wight et Arn.
ชื่อสกุล
Anamirta
คำระบุชนิด
cocculus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Wight, Robert
- Arnott, George Arnott Walker
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Wight, Robert (1796-1872)
- Arnott, George Arnott Walker (1799-1868)
ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นเครือ, แม่น้ำนอง, ว่านนางล้อม (เหนือ); จุ๊มร่วมพนม (ชอง-จันทบุรี); เถาขะโนม, เถาพนม, ลุมปรี, อม
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย