เต่าเกียดชนิดนี้เป็นไม้น้ำล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลม ลำต้นเหนือดินแตกเป็นกอ สูงประมาณ ๕๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๒ แบบ แบบใบใต้น้ำรูปแถบ กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๔-๗ ซม. ปลายมนกลมถึงค่อนข้างแหลม โคนเว้า แผ่นใบสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวปนสีน้ำตาล ไร้ก้าน และแบบใบเหนือน้ำคล้ายรูปหัวใจ กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายค่อนข้างแหลม โคนเว้าลึก แผ่นใบสีเขียวอ่อน เส้นใบจากโคนใบ ๓-๔ เส้น ก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๓๐-๔๐ ซม. โคนแผ่เป็นกาบประกบกัน ยาวได้ถึง ๑๐ ซม.
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นวงรอบแกนกลางช่อ ๑-๗ วง แต่ละวงมี ๑-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๒๐ ซม. รูปสี่เหลี่ยม ชูดอกเหนือน้ำ ใบประดับรองรับช่อดอก ๒ ใบ สีเขียว ยาว ๒.๘-๕.๕ มม. ดอกเพศผู้อยู่ช่วงบน ดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ สีเขียว กลีบดอก ๓ กลีบ สีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้ ก้านดอกกว้าง ๐.๔-๑.๒ มม. ยาว ๐.๗-๑.๘ ซม. ใบประดับย่อยรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว ๒.๘-๕.๕ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้าง ๓.๘-๕.๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบดอกรูปไข่กลับ
ผลแบบผลกลุ่ม รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทน ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปใบหอกกลับ ปลายเป็นจะงอย ผิวมีปุ่มนูน มีครีบด้านข้าง ๑-๓ ครีบ มีหนามทู่ เมล็ดขนาดเล็ก มี ๑ เมล็ด
เต่าเกียดชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป และกระจายไปในแหล่งน้ำจืดในธรรมชาติ ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี.